กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นการเฉพาะ ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่กิจการผลิตวงจรรวมและเวเฟอร์วงจรรวม หวังดึงโครงการลงทุนใหญ่จากต่างประเทศ
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า คณะกรรมการเห็นว่าเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เพราะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย มีการจ้างงานจำนวนมาก และยังมีส่วนช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมและการผลิตวงจรรวมเป็นพิเศษ
โดยกิจการผลิตเวเฟอร์วงจรรวม (Wafer Fabrication) ถือเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสูงสุด ยกเว้นเงินได้นิติบุคคล 8 ปีโดยไม่จำกัดวงเงินที่จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและอนุญาตให้นำเข้าเครื่องจักรมาเพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิมได้ตลอดเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
ส่วนกิจการผลิตวงจรรวมหรือ IC นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้กำหนดแนวทางส่งเสริมในลักษณะเดียวกันกับการผลิต HDD โดยแยกสิทธิประโยชน์ออกเป็นสองส่วน คือ สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์พิเศษเพราะการผลิตวงจรรวมเกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน STI
สำหรับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเขตที่ตั้ง คือเขต 1 ได้ 4 ปี เขต 2 ได้ 6 ปี แต่หากตั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่เขต 2 จะได้ 7 ปี และเขต 3 ได้ 8 ปี และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและอนุญาตให้นำเข้าเครื่องจักรมาเพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิมได้ตลอดเวลาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน
สำหรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม จะให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากสิทธิประโยชน์ พื้นฐาน หากมีการดำเนินการที่มุ่งเน้นด้าน STI (Skill Technology & Innovation) ที่เน้นให้ผู้ประกอบการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่แรงงานและผู้รับช่วงการผลิตไทย ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยจะเพิ่มระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้อีก 1-2 ปีแล้วแต่กรณี และให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้แบบไม่จำกัดวงเงินด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบด้านการลงทุนในกิจการทั้งสองโดยเฉพาะ โดยมีนายไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากบีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอนุกรรมการร่วมด้วย
ทั้งนี้ ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในปี 2546 มีขนาด 182,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบริษัทอินเทลของสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือบริษัท ซัมซุงของเกาหลีใต้ บริษัท เรอเนสซัส ของญี่ปุ่น บริษัท เท็กซัส อินสตรูเม้นท์ ของสหรัฐอเมริกา บริษัท เอสที ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ของเนเธอร์แลนด์ บริษัท โตชิบาของญี่ปุ่น และบริษัท อินฟินิออน ของเยอรมนี สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลาง โดยมีโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมมากกว่า 10 โรงงาน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--