กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารธนชาต มหาชน จำกัด ระยะยาวอยู่ที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ(tha)) และระยะสั้นอยู่ที่ ‘F2(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสะท้อนถึงเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการดำเนินงานจากบริษัทเงินทุนธนชาติซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ(tha))/F2(tha) เช่นกัน นอกจากนี้แผนการโอนธุรกิจเงินทุนของบริษัทเงินทุนธนชาติมาที่ธนาคาร คาดว่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายธุรกิจของธนาคารในระยะปานกลาง
ธนาคารธนชาตมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2546 เนื่องมาจากรายได้เงินปันผลและดอกเบี้ยจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น และกำไรจากเงินลงทุนในหุ้นกู้และสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารมีฐานการกู้ยืมและเงินฝากเพื่อการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อยังค่อนข้างจำกัดในระยะแรกของการดำเนินงาน ธนาคารธนชาตจึงมีผลกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ผลกำไรก่อนการกันสำรองหนี้สูญลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อน ผลการประกอบการก่อนการกันสำรองหนี้สูญในครึ่งปีแรกของปี 2547 ยังถูกผลกระทบจากการที่กำไรจากเงินลงทุนในหุ้นกู้และสินทรัพย์รอการขายที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายเครือข่ายสาขาของธนาคาร
บริษัทเงินทุนธนชาติมีแผนการที่จะโอนธุรกิจเงินทุนรวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินบางส่วน ยกเว้นยอดคงค้างลูกหนี้เช่าซื้อไปยังธนาคารธนชาตภายในสิ้นปี 2547 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง แผนการรวมธุรกิจธนาคารและเงินทุนเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่มีการประกาศใช้แผนแม่บทพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งสนับสนุนการรวมกิจการในภาคธุรกิจการเงิน การโอนสินทรัพย์จะทำให้สินทรัพย์รวมของธนาคารธนชาตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 170 พันล้านบาท ในขณะที่ยอดเงินให้สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 140 พันล้านบาท
ในปี 2546 อัตราส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารธนชาตอยู่ที่ 35% (หลังจากปรับปรุงรายการขาดทุนที่จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต) ซึ่งจัดอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายสาขาที่ยังไม่ครอบคลุมมากนักและการดำเนินงานที่ยังค่อนข้างจำกัดของธนาคาร เมื่อพิจารณาถึงแผนการขยายจำนวนสาขาและพนักงานของธนาคารในอนาคต อัตราส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารธนชาตจะค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้และการโอนหนี้เสียไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็นเอฟเอส จำกัด และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยของรัฐบาล ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาท หรือ 6% ของยอดเงินปล่อยสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2547 จาก 1.3 พันล้านบาท หรือ 3.8% ณ สิ้นปี 2545 เนื่องมาจากการทบทวนการประเมินคุณภาพหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้โดยใช้เกณฑ์การจัดชั้นหนี้ที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารธนชาตซึ่งอยู่ที่ 70% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสถาบันการเงินอื่นถึงแม้ว่าหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้และกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในเชิงรุกของกลุ่มจะยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงในการที่ธนาคารอาจจะต้องกันสำรองเพิ่มเติมในอนาคต หลังจากที่บริษัทเงินทุนธนชาติโอนธุรกิจเงินทุนมาที่ธนาคารธนชาตแล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้น่าจะลดลงมาต่ำกว่า 5%
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ธนาคารธนชาตมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท และเงินกองทุนขั้นที่ 2 อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาทโดยมีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนทั้งหมด อยู่ที่ 22.6% และ 27.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ ในขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้น การกันสำรองหนี้สูญ และการโอนธุรกิจเงินทุนของบริษัทเงินทุนธนชาติมายังธนาคาร มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินกองทุนของธนาคารลดลงใน 2 ปี ข้างหน้า แต่คาดว่ายังสามารถอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่น
หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนของฟิทช์
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หรือ จากรัฐบาลถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร และระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--