นายกรัฐมนตรีเห็นชอบรถเมล์ด่วนพิเศษ นำร่อง 2 เส้นทาง

ศุกร์ ๑๐ กันยายน ๒๐๐๔ ๑๒:๕๓
กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (9 ก.ย.47) เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าพบ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อหารือในประเด็นการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรของกรุงเทพมหานคร
เพิ่มบทบาทเทศกิจอำนวยจราจร
นายอภิรักษ์ ได้นำเสนอนโยบายและโครงการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และนโยบายเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานครดำเนินการได้ทันที คือ เรื่องการนำกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจเปลี่ยน บทบาทมาช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น บริเวณหน้าโรงเรียน ตลาดสด และบริเวณแยกซดน้ำมัน 10 แยก คือ แยกลำสาลี แยกสุรศักดิ์ - สาทร แยกรามอินทรา กม.8 แยกบางนา แยกพระราม 9 แยกเกษตร ห้าแยกลาดพร้าว แยกอรุณอมรินทร์ แยกประชาสงเคราะห์ และแยกรัชโยธิน เพิ่มจากที่ปฏิบัติงานจราจรอยู่ในขณะนี้จำนวน 300 นาย อีก 600 นาย รวมเป็น 900 นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วแต่มีไม่เพียงพอ รวมถึงการรณรงค์ระเบียบวินัยจราจรให้ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน และเข้มงวดกวดขันการใช้รถใช้ถนนด้วย
แจ้งเกิดรถเมล์ด่วนพิเศษ 2 เส้นทางนำร่อง
ส่วนการดำเนินการโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT ที่สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คือ เส้นทาง เกษตร-นวมินทร์ ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณกรุงเทพมหานครปี 2548 จำนวน 700 ล้านบาท เป็นเส้นทางนำร่อง ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันในการดำเนินการเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทางไปพร้อมกันคือ สายถนนนราธิวาส — แยกพระราม3 — สะพานกรุงเทพ ระยะทาง 13 กิโลเมตร โดยร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการใช้รถประจำทางที่มีอยู่แล้วแต่นำมาดัดแปลงประตูและระบบภายในรถให้ใช้การได้กับ เส้นทาง เพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อรถเพิ่ม แต่อยู่ภายในวงเงิน 700 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีรับปากว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนงบประมาณส่วนเกินจากที่ตั้งไว้ ในการนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อน 1 ปี นับจากเริ่มก่อสร้างเพื่อเปิดทดลองให้บริการแก่ประชาชนในช่วงแรก
ทางส่วนอีก 8 เส้นทางที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนอื่น เมื่อรัฐบาลเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที คือ เส้นทางตลิ่งชัน — สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ระยะทาง 14 กิโลเมตร เส้นทางรังสิต — ดินแดง ระยะทาง 27 กิโลเมตร เส้นทางมีนบุรี — สมุทรปราการ ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร เส้นทางพระราม 2 — วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร เส้นทางวงแหวนรอบนอก — แยกเกษตร ระยะทาง 20.1 กิโลเมตร เส้นทางคลองประปา — แยกพิษณุโลก ระยะทาง 27 กิโลเมตร เส้นทางปากเกร็ด — บางกะปิ ระยะทาง 28.9 กิโลเมตร และเส้นทางตากสิน — รัตนาธิเบศร์ ระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 10 เส้นทาง 202 กิโลเมตร
ซึ่งหากได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในระดับสูงจากประชาชนในสองเส้นทางนำร่องก็จะพิจารณาก่อสร้างในเส้นทางที่เหลือต่อไป โดยงบประมาณในการดำเนินการเบื้องต้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท สัดส่วนที่กรุงเทพมหานครจ่ายต่อรัฐบาล คือ 30 : 70
หลายโครงการทำได้ทันที
ส่วนโครงการเร่งด่วนอีกหลายโครงการ คือ โครงการป้ายบอกทางอัจฉริยะ ที่ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถรู้ว่าจะไปเส้นทางไหนที่สะดวก รวดเร็ว บอกสภาพการจราจรล่วงหน้าได้ และบอกสถานที่จอดรถที่ใกล้ที่สุดในการนำรถไปจอดและเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้า โครงการ ที่จอดรถอัจฉริยะในจุดที่การจราจรติดขัดและจุดเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนรถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สำรวจไว้ประมาณ 30 จุดทั่วกรุงเทพฯ โครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่สามารถบอกว่ารถเมล์สายไหนกำลังจะมาถึง และระยะเวลาที่รถเมล์จะมาถึง จำนวน 200 จุด โครงการที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและคนขับรถแท็กซี่ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม ซึ่งสำรวจและจะดำเนินการ 500 จุดในกรุงเทพมหานคร โครงการถนนรูปแบบใหม่ มีทางเท้าที่ร่มรื่น เพิ่มเส้นทางสำหรับให้รถจักรยานวิ่ง มีเส้นทางรถยนต์ และเผื่อเส้นทางสำหรับโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ โดยมีเกาะกั้นระหว่างเส้นทางที่ถาวรและชัดเจน ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ต่อไป
ฟื้นฟูการสัญจรทางน้ำเพื่อลดปัญหาจราจร
ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น นายอภิรักษ์ได้เสนอโครงการส่งเสริมการสัญจรทางน้ำเพื่อลดปัญหาจราจร โดยการปรับปรุงเขื่อนกั้นคลอง ฟื้นฟูการเดินเรือในคลองแสนแสบ และให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือในเส้นทางคลองลาดพร้าว คลองภาษีเจริญและคลองเปรมประชากร พร้อมกับสร้างทางเดินเท้า เส้นทางสำหรับรถจักรยานเลียบคลองให้ประชาชนได้ใช้ในการสัญจร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะให้มีการบริหารจัดการที่ดีในการให้บริการของผู้ประกอบการเดินเรือ ให้มีความปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย ขึ้น-ลง สะดวกโดยมีท่าเทียบเรือที่มั่นคงแข็งแรง น่าใช้ และมีทัศนียภาพที่สวยงาม ทั้งนี้ได้กำชับให้มีการนำทหาร นักโทษและประชาชน ทำการลอกคลองให้ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือได้
ส่วนต่อขยายบีทีเอสจะมีความชัดเจนอีก 2 เดือน
ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส กรุงเทพมหานครได้ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยให้ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการระบบขนส่งส่วนต่อขยายสายสีลม จากสะพานตากสิน — ถนนตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งได้ก่อสร้างโครงสร้างฐาน เรียบร้อยแล้ว เหลือการวางระบบรางและสถานี และที่ยังไม่ดำเนินการจากถนนตากสิน — เพชรเกษม อีก 4.5 กิโลเมตร รวม 6.7 กิโลเมตร สายหมอชิต — สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร และสายอ่อนนุช — สำโรง ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร ในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะนำเรื่องไปพิจารณาคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือน ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะทำการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเตรียมเอกสารสำหรับดำเนินการไปก่อน
จับมือกับปริมณฑลแก้ไขปัญหาจราจร
นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประสานงาน และร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล คือ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ในการพัฒนาจุดเชื่อมพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาจราจรในลักษณะบูรณาการ เพราะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก หากร่วมมือกันก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี
แนะใช้ประโยชน์ใต้ทางด่วน ผุดสวนสาธารณะทั่วกรุง
นายอภิรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้กรุงเทพมหานครสำรวจบริเวณใต้ทางด่วนทั่วกรุงเทพมหานคร ในการ ก่อสร้างลานกีฬา สวนสาธารณะ ที่จอดรถ หากมีระยะทางใต้ทางด่วนมากก็ให้พิจารณาทำเส้นทางรถเมล์ใต้ทางด่วนเพิ่มเติม การหา สถานที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ในการสร้างเป็นสถานที่สาธารณะออกกำลังกายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงโครงการสร้างสนามกีฬาแบบมาตรฐานครบวงจรในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และเปลี่ยนสนามศุภชลาศัยเป็นสวนสาธารณะกลางกรุง เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ได้มีสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายมากขึ้น และยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้เมืองน่าอยู่อีกด้วย--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ