กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพื่อการส่งออก ในเขตจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่” ในวันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2547 ณ ห้องสันพระเนตร โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตภาคเหนือ เนื่องจาก ผลผลิตลำไยส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตมาจากภาคเหนือของประเทศ พื้นที่ปลูกที่สำคัญ คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.68 ของพื้นที่ปลูกลำไยทั้งหมดของประเทศ ลำไยเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกลำไยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2545 และปี 2546 ประเทศไทยมีการส่งออกลำไยไปต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท อย่างไรก็ตามในการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลของเกษตรกรยังคงมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นทุกปี ทั้งปัญหาด้านการผลิต ด้านคุณภาพ ด้านเงินทุน ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ นโยบายและเชิงปฏิบัติการสำคัญที่ควรดำเนินการคือ ควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการปลูกลำไยเพื่อการส่งออกและการแปรรูปอย่างชัดเจน เพื่อควบคุมคุณภาพ ปริมาณการผลิตในแต่ละปี ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาการแปรรูปที่นอกเหนือจากรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มช่องทางทางการตลาด ควรมีการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร โดยสร้างแกนนำในแต่ละกลุ่มให้มีการพัฒนาแนวความคิด กระบวนการทำงาน การบริหารจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยนำองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการให้บริการทางการศึกษาในด้านการเกษตรมารวมเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ นางสาวสุทธินี สุริยะกุล ณ อยุธยา และคณะ เพื่อทำการศึกษาถึงแนวทางในการพัฒนากลุ่มผู้ปลูกลำไยเพื่อการส่งออกให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ และการบริหารจัดการการผลิตลำไยอย่างเป็นระบบ และได้กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวขึ้น เพื่อนำเสนอแนวทางและข้อเสนอต่างๆ ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการต่อกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือผลจากการอภิปรายไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นักวิจัย วิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจ จำนวนประมาณ 200 คน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--