กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.47) เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าเยี่ยมคารวะและประชุมหารือข้อราชการกับ นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ตนได้ตั้ง “ปฏิญญากรุงเทพฯของเรา” สี่แนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนากรุงเทพมหานคร แนวทางแรก เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว 3 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาจราจร ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาขยะมูลฝอย มลภาวะสิ่งแวดล้อม และเรื่องเร่งด่วนที่กำลังดำเนินการคือ การป้องกันน้ำท่วม ที่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาน้ำท่วมเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง แนวทางที่สอง คือ การผลักดันแก้ไขปัญหาในทุกเรื่องที่ได้ประกาศนโยบายไว้ โดยใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการร่วมกับทีมงาน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเร่งด่วน 3 เรื่องที่ได้ประกาศไว้ ยังมีปัญหาคุณภาพชีวิต การศึกษาให้มีคุณภาพ การพัฒนาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเด็กที่เก่งทั้งด้านการเรียน มีคุณธรรม เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี การส่งเสริมการสาธารณสุข สุขภาพของประชาชน การออกกำลัง ปัญหาคนด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนพิการ และการส่งเสริมอาชีพที่ได้ผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการจำหน่ายสินค้าชุมชน แนวทางที่สาม คือ การทำงานเน้นเรื่องความโปร่งในในการบริหารงาน เช่นงบประมาณ และแนวทางที่สี่ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา และตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร ซึ่งปฏิญญาทั้งหมดได้กำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจนพร้อมสำหรับการดำเนินงานต่อไป
ด้านนายประชา ได้ขอความร่วมมือและสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร จำนวนหกเรื่อง คือ การจัดระเบียบเมืองและจัดระเบียบสังคม ให้มีการกวดขันตรวจสอบสถานบริการต่างๆ ทั่วทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบตาม พรบ.ควบคุมอาคาร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมในสถานบริการด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการเอกซเรย์ยาสเพติดอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่สอง คือ การบริหารงบประมาณกรุงเทพมหานครในส่วนการขัดซื้อจัดจ้างที่อ้างเหตุของความเร่งด่วน ให้มีความชัดเจนและโปร่งใส ตามระยะเวลาที่เหมาะสม เรื่องที่สาม คือ การพัฒนาทัศนียภาพรอบๆ อนุสาวรีย์บรรพกษัตริย์ การรณรงค์ตลาดสดให้มีมาตรฐาน เรื่องที่สี่ คือ การพิจารณารายละเอียดการถ่ายโอนบุคลากรด้านดับเพลิงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอยู่ในสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ในเรื่องสวัสดิการต่างๆ การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนของครุภัณฑ์ อุปกรณ์ดับเพลิงต่างๆ ที่จำเป็นในการดับเพลิง และหามาตรการป้องกันไฟไหม้อาคารสูงที่ติดกับเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนเรื่องที่ห้า คือ การส่งเสริมการเพิ่มรายได้ครอบครัว เพิ่มศักยภาพชุมชนให้ผลิตสินค้าต่างๆ อย่างมีคุณภาพ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริม สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สุดท้าย คือ การจัดการงบประมาณด้านการพัฒนาต่างๆ ไปยังพื้นที่ฝั่งธนบุรีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้นายประชา กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรีโดยการจัดหาสถานที่สำหรับก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ครบวงจร การจัดงบประมาณในการเพิ่มสวนสาธารณะ รวมถึงจะร่วมมือกับกรุงเทพมหานครพัฒนาตลาดน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่อไปด้วย
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า แต่ละเรื่องที่ทางมหาดไทยได้ขอความร่วมมือและสนับสนุนมา เป็นนโยบายหลักของกรุงเทพมหานครที่ได้ตั้งไว้แล้วส่วนหนึ่ง ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ ก็จะกำหนดแผนและดำเนินการต่อไป และตนยังมีโครงการที่สนับสนุนสถาบันครอบครัวที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลการจัดระเบียบสังคมคือ โครงการ “ลานชีวิตใหม่ในวันหยุด” ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากอบายมุข โดยใช้สวนสาธารณะ ลานกีฬากรุงเทพมหานครที่มีอยู่ รวมถึงพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนที่จะขอความร่วมมือกับการทางพิเศษฯ ดำเนินการ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่การใช้เวลาว่างของเยาวชนให้เกิดประโยชน์--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--