กทม.เผยความคืบหน้าการลงมือแก้ปัญหาจราจร

อังคาร ๒๑ กันยายน ๒๐๐๔ ๑๐:๔๗
กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กทม.
การแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานครคืบหน้าไปหลายด้าน ทั้งแยกวิกฤต 10 แยก และรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT ที่จะดำเนินการทั้งกระบวนการใน 9 เดือนครึ่ง ส่วนรูปแบบรถให้บริการต้องรอการศึกษาพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง มั่นใจเปิดใช้ได้ภายใน 1 ปี อย่างแน่นอน ทั้งสองเส้นทาง
เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.47) ที่ศูนย์บัญชาการกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือติดตามผลการพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณทางแยกวิกฤต 10 แห่ง ร่วมกับคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายไชยยุทธ ณ นคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายจิม พันธุมโกมล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง พล.ต.ต.มนตรี จำรูญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ภานุ เกิดลาภผล ผู้บังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล นายธะนะกร คุณาวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ประเด็นในการหารือวันนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาจราจร 10 แยกวิกฤต หลังจากมีการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 47 ซึ่งหลายทางแยกได้มีการดำเนินการไปแล้ว รวมถึงได้มีการประสานกับหน่วยงานต่างๆให้การแก้ไขปัญหา ลุล่วงด้วยดี และยังได้มีการติดตามการแก้ไขปัญหาสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ รวมทั้งหาแนวทางปรับปรุงระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรหรือ ATC ให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุดหลังจากได้ติดตั้งไปแล้ว แต่ยังไม่มีการใช้ให้ได้ประโยชน์เต็มศักยภาพ
สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณแยกลำสาลี ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงเวลาเร่งด่วน มีการเปิดช่องเกาะกลางถนนบริเวณฟู้ดแลนด์ สาขารามคำแหงเพิ่มอีก 1 ช่องทาง เพื่อให้รถวิ่งขึ้นทางยกระดับรามคำแหงสะดวกขึ้น รวมถึงการติดสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้ามถนนที่แยกลำสาลี ให้ข้ามถนนอย่างเป็นระเบียบ อันจะส่งผลให้สภาพจราจรบริเวณแยกนี้ดีขึ้น
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นพ้องกันในการเร่งรัดโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการและคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข (TOR) ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเป็นการศึกษารายละเอียดของพื้นที่ ภูมิประเทศ แนวเส้นทางเดินรถ การออกแบบส่วนต่างๆ เช่น สถานีจอดรถ สะพานลอยข้ามไปยังสถานี รวมถึงศึกษาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นบริเวณทางแยก ทางเลี้ยว ที่กลับรถ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาสามเดือน หลังจากนั้นจะหาผู้รับเหมาก่อสร้างอีกสองเดือนครึ่ง ตามระเบียบขั้นตอนราชการ และใช้เวลาก่อสร้างสี่เดือน รวมระยะเวลาทั้งสิ้นเก้าเดือนครึ่ง สามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ภายในหนึ่งปีแน่นอน การดำเนินการก็จะทำควบคู่กันไปทั้งสองเส้นทางคือ เส้นทางถนนนวมินทร์ — เกษตร — หมอชิต และเส้นทางสะพานกรุงเทพ - ถนนนราธิวาสฯ รวมระยะทาง 27 กิโลเมตร ส่วนรถที่จะนำมาให้บริการจะเป็นรถที่มีสภาพใหม่ใช้การได้ดี ซึ่งจะพิจารณาการขึ้นลงรถอยู่ 3 ลักษณะ คือ 1. เปิดประตูด้านขวา 2.ให้รถเมล์วิ่งสวนทางกับรถยนต์ทั่วไปซึ่งสามารถเปิดประตูด้านซ้ายได้ 3.การเบี่ยงเส้นทางของรถก่อนถึงสถานีจอดรถก็จะลงด้านซ้ายได้เหมือนเดิม แต่ทั้งนี้จะพิจารณาถึงตามคุ้นเคยในการขึ้นลงรถของประชาชนเป็นหลัก
“เราไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพียงอย่างเดียวในการขนส่งประชาชนจำนวนมาก แต่ต้องมีระบบขนส่งมวลชนรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวเสริม ซึ่งรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT เป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสม และคำนึงถึงการสร้างระบบขนส่งสำหรับใช้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์แต่อย่างใด ” นายสามารถกล่าวในที่สุด--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ