กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--สนพ.
พรหมินทร์ ชี้ไทยแปรวิกฤติราคาน้ำมันเป็นโอกาสของประเทศ เปลี่ยนจากการรับมือราคาน้ำมัน เป็นการรุกหาแหล่งพลังงาน ทั้งพลังงานทดแทน การร่วมเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ
เดินนโยบายเพิ่มความมั่นคงพลังงาน ดันไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค การเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากรพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชน
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในวิกฤติราคาน้ำมันแพง” ในการประชุมนักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ระดับนานาชาติงาน “Thailand Focus 2004” วันที่ 21 กันยายน 2547 ณ โรงแรม โฟร์ซีซั่น โดยได้เน้นย้ำความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 4 ปีที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งและยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยมีนโยบายพลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งได้แก่
การบริหารจัดการความต้องการพลังงานของประเทศเชิงรุก เพื่อให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยประมาณ 6-7% โดยภาครัฐได้บรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงในระยะสั้นจากการตรึงราคาน้ำมัน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวอย่างราบรื่นและอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากนั้นยังได้แปรวิกฤติให้เป็นโอกาสของประเทศไทยโดยการเปลี่ยนจากด้านรับเป็นด้านรุก กล่าวคือ ประเทศไทยได้มีการเร่งจัดหาพลังงาน ทั้ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะ Biofuels อย่างเป็นรูปธรรม การไปร่วมลงทุนเป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน ทั้งสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศโดยขณะนี้ได้สัมปทานจากพม่า 4 แปลงพื้นที่ 45,000 ตารางกิโลเมตรและร่วมพัฒนาบางพื้นที่กับมาเลเซีย รวมถึงร่วมมือขุดเจาะน้ำมันและก๊าซกับตะวันออกกลาง เช่นโอมาน และอิหร่าน
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับรัสเซียและคาซัคสถานการสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรพลังงาน โดยเพิ่มคุณค่าให้ก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยประเทศไทย 90 % ของก๊าซธรรมชาตินำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนอีก 10 % จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามหาศาล ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ 30 ปีคิดเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านบาท ( 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งร้อยละ 10 สามารถนำไปผลิตปิโตรเคมี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ก๊าซธรรมชาติได้ 6 ล้านล้านบาท ( 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นอกจากนี้ปิโตรเคมีของประเทศราคายังได้เปรียบสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยปิโตรเคมีได้มาจากผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติ (Ethane Base) ส่วนต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น ผลิตจากน้ำมัน (Naphtha Base) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจาก 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล์ เป็น 35เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลประเทศไทยจะได้เปรียบถึง 30% เมื่อเทียบกับประเทศที่ผลิตปิโตรเคมีจากน้ำมัน เนื่องจากราคาของกาซธรรมชาติจะถูกกวว่าแม้จะมีการปรับขึ้นแต่จะมีอัตราที่ต่ำกว่าน้ำมัน
นายแพทย์พรหมินทร์กล่าวต่อไปว่า ปิโตรเคมีไทยได้พัฒนามากว่า 20 ปีซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก (ปี 1980-90) มุ่งพัฒนาทดแทนการนำเข้า ช่วงที่2 (1991-2003) เปิดเสรีอุตสาหกรรมและยังทดแทนการนำเข้า และในปัจจุบันนับเป็น ช่วงที่3 เข้าสู่ช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้หลากหลายสอดคล้องกับการพัฒนาอุสาหกรรมของประเทศที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รถยนต์ อิเล็กโทรนิค และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
และส่งออกเพื่อรับเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ สำหรับการพัฒนาในช่วงที่ 3 นี้เอกชนจะเป็นหลักในการลงทุน ซึ่งประมาณการในเบื้องต้นต้องการเงินลงทุนประมาณ 400 พันล้านบาทการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานด้วยโครงการ Land Bridge โครงการนี้เป็นการใช้จุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยให้เป็ยประโยชน์ โดยต้องการการลงทุนในท่อน้ำมัน 230 กิโลเมตร ถังเก็บน้ำมัน 2 ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
ทั้งนี้เพื่อเป็นท่อเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันที่ต้องผ่านอ่าวมะละกาที่นับวันจะหนาแน่นและเสี่ยงภัยจากอุบัติเหตุและเพื่อความมั่นคงของประเทศ มูลค่าการลงทุนประมาณ 900 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศจีนและเกาหลีใต้การส่งเสริมการแข่งขันเชื่อมั่นกลไกตลาดและภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายในเชิงรุกและผลักดันภาคเอกชนให้สามารถพัฒนาสาขาพลังงานให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลจะสนับสนุนและเป็นผู้นำในการหาพันธมิตรต่างประเทศเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานและส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง จะเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงและการลงทุน อย่างไรก็ตาม มีหลายเหตุผลที่รัฐบาลต้องดูแลพลังงานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
และการเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจต้องการกฎระเบียบที่ออกโดยภาครัฐ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ยังมีบทบาทที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและพัฒนารัฐวิสาหกิจสาขาที่สำคัญยังเป็นโยบายสำคัญของรัฐบาล
อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐจะต้องสอดรับกับสิทธิผู้ถือหุ้นและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย
นายแพทย์พรหมินทร์กล่าวต่อไปว่า ความต้องการเงินจากภาคเอกชนยังมีความสำคัญ เนื่องจากประเทศมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับดันเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 26,000 เมกะวัตต์ โดยในอนาคต 10ปี ประเทศต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 15,000 เมกะวัตต์ หรือ 1,500 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งต้องการเงินลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ60,000 ล้านบาท/ปี โดย 4 ที่ผ่านมารัฐได้ระดมเงินจากภาคเอกชนเพื่อการลงทุนในสาขาพลังงานจำนวน 5 แสนล้านบาท หรือ 12% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์
ขณะนี้โรงกลั่นน้ำมันบางแห่งอยู่ในขบวนการที่จะระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์และยังมีอีกหลายแห่งที่จะตามมา--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--