กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กทม.
มท.1 ร่วมกับ ผู้ว่าฯ กทม. นนทบุรี และปทุมธานี สำรวจแนวป้องกันน้ำท่วม และความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน มั่นใจปีนี้สถานการณ์น้ำไม่รุนแรงเท่ากับภัยแล้ง เตรียมนัดประชุมผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดหารือและมอบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทันที ด้านกทม. เตรียมพร้อมทุกจุด พร้อมสำรวจพื้นที่เสี่ยงและจัดเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
เมื่อวานนี้(27 ก.ย.47) เวลา 09.00 น. นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมกันล่องเรือสำรวจความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ และงานก่อสร้างเพื่อขยายเส้นทางการให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในเขตกทม.และปริมณฑล พร้อมทั้งตรวจการจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณท่าเทียบเรือท่าช้าง กรุงเทพฯ ท่าเทียบเรือจังหวัดนนทบุรี สถานีสูบน้ำดิบสำแล (การประปานครหลวง) จนถึง ท่าเทียบเรือจังหวัดปทุมธานี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการตรวจพื้นที่ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี ได้สรุปให้เห็นถึงแนวป้องกันน้ำท่วม และบริเวณที่จะต้องเสริมแนวกระสอบทราย รวมถึงจุดที่กำลังก่อสร้างเพื่อ ป้องกันน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนของประชาชน จนถึงขณะนี้ตนมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างแน่นอน แต่ในบางพื้นที่ซึ่งมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อาจจะเป็นไปได้ว่าหากมีน้ำทะเลหนุนสูงอาจจะทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าพื้นที่ได้ แต่สิ่งที่ตนกังวลในช่วงเดือน พ.ย. -ก.พ. คือ ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนในปีนี้เทียบกับปีที่แล้วซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งมีปริมาณใกล้เคียงกัน ตนจึงจะจัดให้มีการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด เพื่อมอบนโยบายในการดูแลปัญหาภัยแล้ง ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เบาบางต้องเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เฉลี่ยอยู่ที่ปริมาณร้อยละ 60 ซึ่งจากการพร่องน้ำที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการน้ำได้ดี จึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะนี้กำลังคิดถึงระบบเตือนภัยเพื่อจะได้มีการป้องกัน ดูแล และเตือนภัยราษฎร พร้อมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันการณ์
นายโภคิน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการวางผังเมือง ซึ่งตนได้มอบหมายให้อธิบดีกรมโยธาและผังเมืองไปดำเนินการร่วมกับ กทม.และจังหวัดปริมณฑล โดยกลางเดือน ต.ค. นี้จะจัดประชุมร่วมกับกทม.และปริมณฑล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมไปถึงการร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและเป็นระบบในทุกเรื่อง ซึ่งพี่น้องประชาชนในกทม.และปริมณฑลจะได้ประโยชน์กว่าที่ผ่านมา
ด้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วมในส่วนของกรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้ กทม.มีแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างเสร็จแล้วความยาว 50 กม. ความสูง 2.4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีกประมาณ 8 กม. โดยบริเวณพื้นที่ในส่วนที่เหลืออยู่จะมีการนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันชั่วคราว ความสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งในปีนี้กทม.ได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมไปแล้วประมาณ 500,000 กระสอบ จากที่เตรียมไว้จำนวนทั้งสิ้น 2 ล้านกระสอบ เพื่อป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและจุดเสี่ยงต่างๆ นอกจากนี้ กทม.ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับปริมาณระดับน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากตอนเหนือประมาณ 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที กทม.ยังสามารถรองรับได้หากไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้จากการร่วมประชุมและสำรวจพื้นที่กับผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการที่จะรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม กทม.ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครขึ้น พร้อมทั้งสำรวจจุดอ่อนน้ำท่วมขัง 16 จุดในกทม. รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ และจัดเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่จะเข้าไปช่วยเหลือบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำในจุดวิกฤตให้เร็วที่สุด ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้จะมีการแจ้งเตือนให้แต่ละ พื้นที่ทราบ ซึ่งตนมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้แน่นอน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--