กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
ผลการเลือกตั้งนายกสมาคมโฆษณาฯ คนใหม่เป็นไปตามคาด ชัยประนิน วิสุทธิผล เอ็มดี ทีบีดับบลิวเอ\ ไทยแลนด์ ขึ้นนั่งนายกสมาคมโฆษณาฯ ประจำปี 2548 — 2549 ต่อจาก ปารเมศร์ รัชไชยบุญ ที่ดำรงตำแหน่งนี้ถึง 2 สมัย ชัยประนินไฟแรงแถลงแผนนโยบายหลังมติเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ 4 ประการคือ 1 .สร้างความเป็นปึกแผ่นและน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในวงการสื่อสารการตลาดให้มากยิ่งขึ้น 2. ลดช่องว่างภาครัฐและภาคการศึกษา 3. ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ 4. สร้างการยอมรับนับถือจากสังคม ด้านนายปารเมศร์ ปลื้มผลงานและความเป็นปึกแผ่นของสมาคม เรียกร้องให้สมาชิกสนับสนุนและร่วมมือกับสมาคมโฆษณาฯ เช่นนี้ต่อไป
การเลือกตั้งนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการ ประจำปี 2548-2549 สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ได้รับความสนใจจากสมาชิก บุคคลในวงการและสื่อมวลชนอย่างล้นหลาม โดยผลการเลือกตั้งมีดังนี้ นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย คือ นายชัยประนิน วิสุทธิผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีบีดับบลิวเอ\ประเทศไทย จำกัด คณะกรรมการ 7 ท่าน คือ 1. คุณพรรณี ชัยกุล จาก โอกิลวี แอนด์ เมเธอร์ 2. คุณวศโดม รัศมิทัต จาก สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง 3. คุณวิทวัส ชัยปาณี จาก ครีเอทีฟจูซ\จีวัน 4. คุณอุดมศักดิ์ วงษ์ประเสริฐ จาก ไดอิจิ 5. คุณอิชยา สันติตระกูล จาก แบรนด์ คอนเน็คชั่น 6. คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ จาก วาย แอนด์ อาร์ และ 7. คุณพันธ์ศักดิ์ ไวยากรณ์วิลาศ จาก ยูโร อาร์เอสซีจี แฟลกชิพ
นายชัยประนิน วิสุทธิผล นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยคนล่าสุด กล่าวเปิดเผยหลังการเลือกตั้งว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสมาคมโฆษณาฯ ให้รับตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว และชื่นชมการทำงานของนายกสมาคมโฆษณาฯ และคณะกรรมการชุดก่อน ที่สร้างความร่วมมือกันของคนในวงการโฆษณาอย่างเป็นปึกแผ่น และประสบความสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีและท้าทายให้ คณะกรรมการชุดต่อไป ที่จะต้องตั้งใจทำงานอย่างจริงจังให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคมโฆษณาฯและอุดมการณ์ร่วมกัน สำหรับนโยบายของคณะกรรมการสมาคมโฆษณาฯ ชุดใหม่นี้ มีดังนี้ 1. มุ่งสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนใน วงการโฆษณาและฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในงานสื่อสารการตลาด ทั้ง มีเดีย พีอาร์ อีเว้นต์ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันปัญหามีหลายด้าน เช่น มาตรการควบคุมโฆษณาจากภาครัฐ ประเด็นอิทธิพลโฆษณาต่อปัญหาสังคมต่าง ๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องร่วมมือกันของคนในวงการที่เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน สมาคมโฆษณาฯ จึงเห็นว่าการมีกิจกรรมส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้คนในวงการโฆษณาร่วมมือกันอย่างชัดเจน 2. การลดช่องว่างระหว่างภาค อุตสาหกรรมโฆษณากับภาครัฐและภาคการศึกษา ในส่วนแรกคือภาครัฐ ที่ได้มีมาตรการควบคุมดูแลการโฆษณาและดูแลปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโฆษณา ซึ่งจุดนี้สมาคมโฆษณาฯได้เจรจาประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่ผ่านมาเราพบว่า ภาครัฐยังมีความเข้าใจ และมุมมองที่แตกต่าง ๆ ไปจากภาคคนทำงานโฆษณา ดังนั้นปัญหาหลายอย่าง
จึงเกิดขึ้น เช่นการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โฆษณา การควบคุมภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลังและขนมเด็ก เป็นต้น เหล่านี้จึงทำให้สมาคมโฆษณาต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่ภาครัฐที่ถูกต้องมากขึ้น ในส่วนที่ 2 คือ ภาคการศึกษา สมาคมโฆษณาฯ ได้เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถาบันการศึกษาด้านการสื่อสารการตลาด ในลักษณะของการศึกษาหลังปริญญาตรี (Post Graduate) สำหรับพัฒนาทักษะ คุณภาพบุคลากรและบุคคลที่สนใจทำงานในอาชีพโฆษณา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาในปี 2548 และจะดำเนินการก่อตั้งในปี 2549 ซึ่งในขั้นแรกนี้หลักสูตรจะเน้นทางด้านครีเอทีฟ และการบริหารงานลูกค้า ก่อนแล้วจะขยายไปในด้านมีเดีย พีอาร์ อีเว้นต์ ให้ครบวงจร 3. ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ โดยสมาคมโฆษณาจะมุ่งจัดสัมมนา หรือฝึกปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้ด้านโฆษณาและอื่น ๆ อย่าง ต่อเนื่องทั้งระดับมืออาชีพและนักศึกษา รวมทั้งงานสำคัญคือโครงการ adman awards & symposium ที่มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพผลงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมไทยในระดับโลก และ 4. สร้างการยอมรับนับถือจากสังคม โดยรวม กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายในสมาคมโฆษณาฯ และจะส่งเสริมให้การยอมรับจากสังคมดียิ่งขึ้น
ปัจจุบัน นายชัยประนิน วิสุทธิผล (Chaipranin Visudhipol) ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีบีดับบลิวเอ\ประเทศไทย จำกัด มีประสบการณ์การทำงานด้านโฆษณาร่วม 20 ปี ประวัติทางการศึกษาสูงสุดจบปริญญาโท สาขา Visual Communication Design, The School of Art institute of Chicago,สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการโฆษณาของเมืองไทยคนหนึ่ง ที่นำเอาความแข็งแกร่งของการวางแผนกลยุทธ์การโฆษณาผสานความเฉียบคมของความคิดสร้างสรรค์อย่างลงตัว ซึ่งทำให้สร้างสรรค์งานโฆษณารวมทั้งการวางแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ชัยประนิน เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัท White Castle Advertising, USA ในตำแหน่งดีไซเนอร์ หลังจากนั้นได้เข้าทำงานให้กับบริษัท Berneak Homes,USA ในตำแหน่ง หัวหน้าทีมครีเอทีฟ (Creative Group Head) และในที่สุด ชัยประนินได้ตัดสินใจกลับยังเมืองไทยและได้ก่อตั้งบริษัท Triplet Advertising ในปี 1985 บริษัทโฆษณา ที่เชี่ยวชาญด้านการวางแผน กลยุทธ์การโฆษณา จนกระทั่งนำบริษัทรวมกับ Next Advertising ของนายต่อ สันติศิริ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงาน Creative และ TBWA บริษัทเอเยนซี่โฆษณาระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา เครือ Omnicom
นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ อดีตนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ได้ทำงานในตำแหน่งนายกสมาคมโฆษณาฯ ตนและคณะกรรมการทุกคนพยายามดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคมโฆษณาฯ ที่หวังจะเห็นอนาคตของอุตสหกรรมโฆษณาเมืองไทยเติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพไม่แพ้ต่างชาติ ตลอดจนเจรจาประสานงานกับภาครัฐและฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวของกับอุตสาหกรรมโฆษณา และปกป้อง ผลประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณา ผลงานที่เด่นชัดมีดังนี้ วาระที่ 1 (ปี 2544 — 2545) 1. สมาคมโฆษณาฯ ได้เจรจาประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นประเด็นปัญหา และเสนอทางแก้ไขการโฆษณาอาหารและยา ผลการเจรจาทำให้ อย. ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ได้ยกเว้นการสื่อสารด้านสรรพคุณที่ อย.จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างละเอียด 2. สมาคมโฆษณาฯ ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแก้ไขการร้องเรียนด้านการโฆษณาสินค้าและบริหาร และจัดโครงการประกวดโฆษณาเพื่อผู้บริโภคเป็นประจำทุกปี 3.สมาคมโฆษณฯ จัดทำแคมเปญ “Value of Adv.” เพื่อให้สาธารณชนรู้ และเข้าใจในบทบาทและคุณค่าของการโฆษณา และสร้างความภูมิใจในวิชาชีพโฆษณาด้วย 4. สมาคมโฆษณาฯ กำหนดให้มีการประชุมระดับผู้บริหารของ เอเจนซี่สมาชิกทุก 4 เดือน 5. จัดสัมมนาหัวข้อต่าง ๆ เช่น Agency Compensation - ค่าตอบแทนบริษัทโฆษณา,Self Regulation — การสร้างความภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจของเราเอง 6.สมาคมโฆษณาฯ ได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงจรรยาวิชาชีพนักโฆษณาเดิม ซึ่งมีอายุกว่า 20 ปี แล้วให้ทันสมัย และเหมาะสมกับความเป็นจริงขึ้น และมีการแก้ไขจากจรรยาวิชาชีพ 16 ข้อ เหลือเพียง 10 ข้อ 7. เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประกวดโฆษณา AP AdFest ในระดับภูมิภาค และ TACT Awards เป็นประจำทุกปี
วาระที่ 2 (ปี 2546 — 2547) สมาคมโฆษณาฯ มีผลงานเด่นชัด ดังนี้ 1. สมาคมโฆษณาฯ ได้ประสานงานกับภาครัฐและฝ่ายต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโฆษณากับปัญหาสังคม โดยเฉพาะการที่ภาครัฐกวดขันการโฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนและขนมเด็ก ซึ่งทางสมาคมโฆษณาฯ ได้เข้าชี้แจงกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีความเข้าใจไม่ตรงกัน และให้ให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วย 2. Pitching Fee 44 เอเจนซี่สมาชิกสมาคมโฆษณาได้สรุปให้ประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิชชิ่งจากลูกค้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 โดยแบ่งการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิชชิ่งเป็น 2 แบบคือ 1. ค่าธรรมเนียมพิชชิ่ง แบบ Full Campaign Above The Line Pitch ในอัตรา 100,000 บาท 2. ค่าธรรมเนียมพิชชิ่ง แบบ Strategic Pitch ในอัตรา 50,000 บาท 3. Training จัดหลักสูตร Training คือ Strategic Training / Super AE และ Creative Training นอกเหนือจากนั้น ทางสมาคมฯ ได้มีโครงการเพื่อเอา“วิชาชีพ”ไปผสานกับ“วิชาการ”ให้กับนิสิตนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาด้านการโฆษณา เพื่อเป็นการปรับฐานก่อนทำงานจริง 4. พระราชบัญญัติวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2502 ทางกฤษฎีกาได้พยายามออก พระราชบัญญัติ (พรบ.) ใหม่เพื่อใช้ ควบคุมวัสดุที่ถ่ายทำในระบบเทป และฟิล์ม และนั่นรวมถึงรายการทั้งหมด เกมส์โชว์, ละคร, เพลง รวมถึงโฆษณาด้วย ยกเว้นแต่ข่าว ทางสมาคมฯ ต้องเข้าประชุมกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายครั้ง พร้อมทั้งติดต่อกับเจ้าของสื่อ เจ้าของรายการต่างๆ เพื่อต่อต้าน พรบ. ฉบับนี้ ในที่สุดได้ยับยั้งการออก พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ และ 5. Adman Awards & Symposium กิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน องค์กรธุรกิจและสังคมให้เห็นถึงบทบาท ความสำคัญของการสื่อสารการตลาด ตลอดจนยกระดับมาตรฐานคุณภาพของธุรกิจการสื่อสารการตลาดของประเทศ ประกอบด้วย Adman Awards การประกวดผลงานและบุคลากรด้านการสื่อสารการตลาดยอดเยี่ยม เพื่อส่งเสริม ยกย่องและให้กำลังใจแก่ผลงาน บุคลากรยอดเยี่ยม รับผิดชอบต่อจรรยาวิชาชีพในอุตสาหกรรมธุรกิจการสื่อสารการตลาด ซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การยอมรับนับถือจากสังคม องค์กรธุรกิจ และภาครัฐ ทั้งยังถือเป็นประวัติศาสตร์ของวงการโฆษณาไทยที่มีเวทีของคนโฆษณา เพื่อคนโฆษณา โดยคนโฆษณา อย่างแท้จริง และ Adman Symposium คือการสัมมนาเชิงวิชาการ โดยแบ่งจัดเป็น 2 ครั้ง คือ: 1. “ถนนโฆษณา ... เส้นทางนอกตำรา” จัดเพื่อนิสิตนักศึกษาให้เข้าถึงวิชาชีพโฆษณาที่แท้จริง 2.“Why Brand Fail?” จัดร่วมกับนิตยสาร BrandAge เพื่อนักโฆษณา นักการตลาด และเจ้าของกิจการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน
“เป็น 4 ปี ที่พวกเราเหนื่อย เครียด และทำงานหนักมาก ไม่มีค่าจ้าง เงินเดือน หรือแม้แต่เบี้ยประชุม แต่คณะกรรมการทุกท่านมีอุดมการณ์เดียวกันคือ ต้องการให้อุตสาหกรรมโฆษณาของเรามั่นคง และเติบโตไปกว่านี้ ขอขอบคุณท่านอดีตนายกสมาคมโฆษณาฯ ทุกท่าน ที่แนะนำ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลมาตลอด เช่นเดียวกับท่านผู้บริหารบริษัทโฆษณา, นักการตลาด, ลูกค้า, บริษัท Media Agency, PR, บริษัทจัดกิจกรรมการตลาด, สื่อมวลชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่สมาคมทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และช่วยเหลือมาตลอด ใน 4 ปีนี้ ผมได้เพื่อนแท้ และเพื่อนใหม่อีกมากมาย และนี่เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดอีกสิ่งหนึ่งของผม ซึ่งผมจะจดจำไว้อีกนาน” นายปารเมศร์ กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ประกาศิต นันป้อ, จิดาภา ประมวลทรัพย์
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 0-2693-7835 ต่อ 33,32 โทรสาร. 0-2693-6919-20
Website : www.siampr.co.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--
- ม.ค. ๒๒๘๔ อนันดาฯ จับมือ แอร์เอเชีย ร่วมผ่านวิกฤตโควิด-19 ผ่านหลักสูตร “2nd Job 2nd Chance” เปิดโอกาสเรียนรู้อสังหาฯ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไป
- ม.ค. ๑๒๖๙ อนันดาฯ เปิดตัวแนวคิดใหม่เพื่อการใช้ชีวิต “THE NEW ICONIC”
- ม.ค. ๒๕๖๘ อนันดาฯ กระตุ้นตลาดอสังหาฯ เปิดตัวแนวคิดใหม่เพื่อการใช้ชีวิต “THE NEW ICONIC” พร้อมส่งมอบ 5 โครงการพร้อมอยู่ ครบทุกเซ็กเมนต์