กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กทม.
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการปัญหาน้ำท่วม กทม. เปิดเผยถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อค่ำวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากปริมาณฝนที่ตกเมื่อวานนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีปริมาณฝนมากที่สุด 24 ชั่วโมง บริเวณคลองเทเวศน์ วัดได้ 63.0 มม. คลองสามเสน 57.5 มม. คลองชักพระ 67.0 มม. คลองภาษีเจริญ 49.5 มม. และคลองดาวคะนอง 46.0 มม. ส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ โดยมีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาทั้งสิ้น จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ 1.บริเวณซอยอินทามระ 4 เขตพญาไท ฝนตกน้ำท่วมตลอดซอย 2.บริเวณซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 ถ.พหลโยธิน สามเสนใน เขตพญาไท ฝนตกน้ำระบายไม่ทัน 3.ซอยจอมทอง 12 เขตจอมทอง น้ำท่วมไหลเข้าบ้าน 4.บริเวณหมู่บ้านรุ่งเรือง 12 เขตบางกอกน้อยเข้าไปในซอย 700 เมตร น้ำท่วมเข้าบ้าน 5.บริเวณแยกราชวัตร ถึงสถานีรถไฟสามเสน เขตดุสิต ฝนตกน้ำท่วมขัง 6.บริเวณซอยรณชัย 2 ซอยโรงพยาบาลวิชัยยุทธ 1 เขตพญาไท ฝนตกมีน้ำท่วมขังตลอดซอย และ 7.ซอยเอกชัย 66 เขตบางบอน ฝนตกน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งทั้ง 7 จุดนี้ สามารถดำเนินการแก้ไขระบายน้ำที่ท่วมขังได้เรียบร้อยครบทุกจุดในระยะเวลาอันสั้น
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการปัญหาน้ำท่วม กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดวิกฤตน้ำท่วม16 จุดที่ต้องเฝ้าระวัง มีเพียงจุดเดียวเท่านั้นที่มีปริมาณฝนตกเกิน 60 มม. ได้แก่ ถ.ประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง นอกจากนี้มีการรายงานสภาพน้ำท่วมขังเข้ามาอีก 8 แห่ง แต่สามารถ แก้ไขได้ทันท่วงที ได้แก่ ปากซอยประชาสงเคราะห์ 23-24, โรงบำบัดน้ำเสีย - ปากซอยโรงเรียนพร้อมพรรณ, บริเวณหน้าตลาดดินแดง, แยกสนามม้า - ถนนสวรรคโลก, หน้ากรมสรรพสามิต, ใต้ทางด่วนพระราม 6, แยกพญาไท — แยกพระราม 6, แยกตึกชัย - หน้าองค์การเภสัช ซึ่งทุกจุดสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีบ่อสูบน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งสำนักการระบายน้ำยังมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 24 หน่วย ประจำพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม เมื่อเกิดเหตุฝนตกและน้ำท่วมขังเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการระบายน้ำทันที จึงทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่ทำได้รวดเร็วและไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่เข้าไปจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงระบายน้ำเพื่อให้ระบายได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ตลอดจนเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องการจราจรอีกด้วย
นายสัญญา กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด จะต้องดำเนินให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด ซึ่งนับตั้งแต่เปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม กทม.เมื่อวันที่ 14 ก.ย.จนถึงวันนี้ (30 ก.ย.) มีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาทั้งสิ้น 46 เรื่อง ซึ่งตนได้ลงไปดูพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมทั้งประสานงานและช่วยเหลือได้ทันที ไม่มีเรื่องตกค้าง เนื่องจากทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงวันต่อวัน ตามนโยบายเชิงรุกของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งแก้ไขสถานการณ์และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรศัพท์แจ้งได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โทร. 0 2224 2987, 0 2225 6972 หรือ 1555--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--