บริษัท แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง ซีอุย มีกำหนดฉาย 28 ต.ค.นี้

จันทร์ ๐๔ ตุลาคม ๒๐๐๔ ๑๓:๔๖
กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส
ซีอุย(ZEE — OUI)
เรื่องย่อ
ปีพุทธศักราช 2489 หนุ่มชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ลี่ฮุย (ซีอุย) ดั้นด้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาแผ่นดินไทยเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าพร้อมกับมีดเล่มเดียวที่มารดามอบให้เป็นสมบัติติดตัว แต่เมื่อมาถึงทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เขา โดนรังแก ถูกเหยียดหยาม จากคนรอบข้าง เขาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด จนเขาเริ่มล้มป่วย เขาคิดถึงแม่... เวลาเดียวกันสัญชาติญาณความอยู่รอดก็เริ่มบีบรัดเขามากยิ่งขึ้น เขาเริ่มฆ่าเด็ก! ควักหัวใจและตับออกมาเพราะความเชื่อว่าตับและหัวใจเด็กจะทำให้เขารู้สึกแข็งแรงขึ้น และเมื่อใดที่เขารู้สึกอ่อนแอ เขาจะฆ่าและฆ่าอีก... เพื่อให้ตนเองพ้นจากความอ่อนแออีกครั้ง... เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงทางตันเขาถูกจับได้และยอมรับสารภาพในการกระทำที่เขาทำ เขาถูกตัดสินประหารชีวิต สังคมเริ่มกลับสู่ความปลอดภัยอีกครั้ง แต่ทำไมยังคงมีเด็กหายและถูกฆ่าอีก หรือซีอุยที่ตายไปนั้นเป็น...ซีอุย มนุษย์กินคน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวของซีอุย ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าเด็กอย่างโหดเหี้ยม พร้อมกับควักหัวใจออกมากินกลายเป็นตำนานที่สร้างความหวาดผวาให้กับสังคมไทยมาตลอด ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังได้ยินเรื่องราวของซีอุยอยู่เป็นระยะ
และความโหดเหี้ยมของซีอุยนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกหยิบมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทยหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็ได้ตอกย้ำภาพความน่ากลัวของชายจีนรูปร่างผอมเกร็ง มีมีดสั้นเป็นอาวุธที่ใช้กระชากวิญญาณเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ และต้องกินหัวใจมนุษย์ทุกครั้งที่รู้สึกมีความต้องการ
นั่นคือสิ่งที่คนไทยและสังคมไทยรับรู้มาตลอดเกี่ยวกับซีอุย...
แต่สำหรับซีอุยที่ แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส สร้างนั้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดภาพและความเข้า ใจซีอุยในแบบเดิม ความตั้งใจที่นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา, บุรณี รัชไชยบุญ ในฐานะผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจนำเสนอคือ การตั้งคำถามกับเรื่องราวของซีอุยว่า ความเหี้ยมโหดของซีอุยเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และทำไมซีอุยต้องฆ่าเด็ก หรือเพราะความเชื่อผิด ๆ บางครั้งทำให้คนดีคนหนึ่งต้องกลายเป็นฆาตกรโดยไม่รู้ตัว ทั้งหมดเป็นการตีความใหม่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย กับความเชื่อที่ว่า ซีอุยเป็นมนุษย์กินคนที่อยู่ในความรู้สึกคนไทยมากว่า 40 ปี
สิ่งเหล่านี้ ผู้กำกับ ฯ ทั้งสองพยายามเล่าเรื่องและบอกว่า เรื่องราวความโหดเหี้ยมของซีอุย อาจจะประเด็นที่น่ากลัวของสังคมในยุคหนึ่ง แต่ปัจจุบัน ความโหดร้ายจากการที่เด็กถูกกระทำและเป็นเหยื่ออาชญากรรมนั้น ยังคงดำรงอยู่ และอาจจะน่ากลัวกว่าเรื่องราวของซีอุยหลายเท่า เพียงแต่สังคมชินชากับความโหดร้ายดังกล่าวจนไม่รู้สึกว่า เป็นเรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด
ซีอุย เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ บริษัท แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด ใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 45 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาถ่ายทำประมาณ 5 เดือน และมีกำหนดออกฉาย 28 ตุลาคมนี้
ผวา ซีอุย ! กลับมากินตับคนอีกครั้ง
ซีอุยฆาตกรโหดที่ถูกเล่าขานเป็นตำนานมากว่า 40 ปี ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นถกถียงในสังคมไทยอีกครั้งถึงพฤติกรรมของเขาที่ลงมือฆ่าเหยื่ออย่างโหดร้ายวิปริตผิดมนุษย์ด้วยการควักเอาตับ หัวใจ เพื่อนำมากินนัยว่า อวัยมนุษย์เป็นยาอายุวัฒนะที่วิเศษสุด ๆ จากหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจและคำให้การของซีอุย ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาประหารชีวิตของเขาพบว่า ซีอุยมักจะใช้วิธีการฆ่าเหยื่ออย่างบ้าคลั่ง การกระทำเช่นนั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากความกดดันหรือถูกบีบบังคับให้เขาลงมืออย่างแน่นอน
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่ง คือ การฆาตกรรมเด็กที่เกิดขึ้นมีเวลาที่ใกล้เคียงกันเพียงชั่วข้ามคืนหรือคืนเดียวกัน ทว่าสถานที่เกิดเหตุต่างหรือห่างไกลกัน สื่อมวลชนในยุคนั้นตั้งคำถามว่าพฤติการณ์ณืดังกล่าวเป็นฝีมือของคน หรือผีกันแน่ ในเวลาต่อมามีผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตของซีอุยพบว่าหลักฐานต่าง ๆ ที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนมีความขัดแย้งกับความเป็นจริงอยู่มาก หลายคนตั้งคำถามอย่างเจ็บปวดว่า ซีอุยเป็นฆาตกรตัวจริงหรือว่าเป็นเพียงแพะรับบาป เพราะหากซีอุยได้ลงมือกระทำเองทั้งหมดในสถานที่ห่างกันแต่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเขาก็น่าจะเป็นคนที่ล่องหนหายตัวได้แน่ ๆ
ประเด็นที่ชวนให้ขบคิดมากไปกว่านั้นก็คือ เมื่อซีอุยจบชีวิตลงแล้ว การฆาตกรรมเด็กเพื่อควักกินตับ หัวใจ ยังคงมีอยู่และยังต่อเนื่องมาจนถึงสังคมปัจจุบันในวันนี้ นั่นก็หมายความว่าผีห่าซาตานที่เคยสิงร่างซีอุยได้ย้ายไปสิงสถิตในร่างของคนต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่สังคมยังบ้าคลั่งกับวัตถุนิยมและหลงลืมความบอบบางด้านในของมนุษย์ซึ่งปรากฎการณ์ หรือภูมิหลังของชีวิตซีอุยน่าจะเป็นบทเรียนที่สังคมไทยควรนำมาศึกษายิ่งนัก
เผยชีวิตรันทด ซีอุย
ซีอุย แซ่อึ้ง เกิดปีระกา 2470 เป็นชาวจีน บิดาชื่อนายฮุนฮ้อ มารดาชื่อนางไป่ติ้ง อาชีพทำไร่ฐานะยากจน มีพี่น้องหลายคน ตอนเด็ก ๆ มักถูกรังแก จนพบชายชราแนะนำให้กินตับ และหัวใจของคน เพื่อที่จะได้มีพลังต่อสู้กับคนที่มารังแก หลังจากนั้นซีอุยเริ่มฆ่าสัตว์กินเนื้อสด ตับ หัวใจ
พอซีอุยเริ่มเป็นหนุ่มก็เริ่มฆ่าเด็กแหวะอก เฉือนหัวใจและตับ มันทำให้เขารู้สึกว่ากล้าสู้ และอร่อยโดยใช้วิธีการฆ่าฝังร่องรอย เมื่ออายุย่างเข้า 18 ปี ซีอุยถูกส่งเข้าประจำการที่หน่วยรบทหารราบกองพันที่ 8 ซีอุยฝึกและถูกส่งตัวไปรบในแนวหน้าจนได้รับบาดเจ็บ เพื่อนทหารต่างก็ล้มตาย อาการบาดเจ็บและหิวโหยทำให้ซีอุยเริ่มต้มตับ ไต หัวใจ ไส้พุงศพเพื่อนทหารที่เสียชีวิต
หลังจากสงครามเพื่อนทหารรุ่นเดียวกันชวนซีอุยไปสมัครเข้าทำงานบริษัทเดินเรือทะเลทำได้อยู่ปีเศษ ๆ เพื่อน ๆ ก็ชวนลอบเข้าเมืองไทยโดยหลบหนีจากเรือเดินทะเลโปวคิวขณะนำสินค้าส่งที่ท่าเรือคลองเตยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2489
ในระหว่างที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย เขาต้องเร่ร่อนทำงานรับจ้างกลับไปกลับมาในสถานที่ต่าง ๆ อาทิ อ.ทับสะแก และ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.นครปฐม อ.เมือง จ.ระยอง และกรุงเทพ ฯ ซึ่งชีวิตของเขาได้รับแรงกดดัน ถูกเหยียดหยามดูหมิ่นจากคนรอบข้าง ถูกเอารัดเอาเปรียบจนในที่สุดก็นำไปสู่เหตุการณ์ที่ต้องน่าสะพรึงกลัวและทำให้ซีอุยพบจุดจบอย่างน่าสงสารเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2502
ประวัติผู้กำกับ
นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา
จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเข้าร่วมงานกับสยามสตูดิโอ ตั้งแต่ครั้งยังมีพนักงานเพียง 12 คน และเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างสยามสตูดิโอให้รุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้ ด้วยจำนวนพนักงานที่เพิ่มมากขึ้นถึง 100 คน และกลายเป็น Production House ซึ่งแตกออกเป็นบริษัทในเครือกว่าสิบบริษัท
นอกจากความสามารถในการบริหารแล้ว นิดายังขึ้นชื่อในด้านการกำกับและตัดต่อภาพยนตร์ โดยงานถนัดของเธอคือการกำกับสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม
ผลงานที่สร้างชื่อให้เธอ คือ หนังโฆษณาที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยถึงเกือบ 3 นาที เรื่องแรก จากภาพยนตร์โฆษณา Chivas Regal
จุดเด่นในการผลิตผลงานของนิดาก็คือ การเอาใจใส่ในการผลิตงานอย่างละเอียดพิถีพิถันในทุกขั้นตอน จึงไม่แปลกที่นิดาจะเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับมายาวนานจากคนในและนอกวงการ
บุรณี รัชไชยบุญ
ในวงการบันเทิง ชื่อของ บุรณี รัชไชยบุญ เป็นที่รู้จักการมานานแล้วในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะละคร 28 รวมทั้งเป็นผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเทคนิคการแสดง คอนเสิร์ต ละครเวทีโอเปร่า และภาพยนตร์ อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยกำกับการแสดงภาพยนตร์ ต่างประเทศชั้นนำได้แก่ Saigon, The Killing Field, Air America และ Casualties of War
บุรณีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ศิลปะการละคร จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอมีมากมาย โดยเฉพาะความสามารถทางด้านเทคนิคและการออกแบบแสง เธอจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับแสง และผู้กำกับเทคนิคในผลงาน ซึ่งมีผลงานมากมาย อาทิ Man of Mancha ของ Wasserman ณ โรงละครแห่งชาติ, Madame Butterfly ของ Puccini ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, Galileo ของ Brecht ณ โรงละครแห่งชาติ, บัลเล่ต์ A Mid Summer Night’s Dream
- คอนเสิร์ตพระมหาชนก ผลงานประพันธ์ดนตรีของหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช
- มหาอุปรากร “ มัทนา ” ฯลฯ
นอกจากนั้นแล้ว ผลงานของบุรณี ยังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการโทรทัศน์ด้วย โดยมีหลายรางวัลเป็นเครื่องรับประกันถึงความคิดสร้างสรรค์ จากการผลิตสารคดีเทิดพระเกียรติ “ในดวงใจนิรันดร์” ทางช่อง 9 อสมท.
ผลงานระดับประเทศของเธอที่ยังได้รับการพูดถึงจนถึงทุกวันนี้ คือการเป็นผู้กำกับเทคนิคในพิธีเปิด — ปิด กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2541
ทัศนะของผู้กำกับภาพยนตร์ “ซีอุย”
นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา (ดาว), บุรณี รัชไชยบุญ (หนูเล็ก)
ซีอุย มุมมองใหม่
ดาว การที่เราหยิบซีอุยมาพูดถึงอีกครั้งเราไม่เคยคิดถึงซีอุยแบบเก่าเลย เราคิดว่าเนื้อหาที่ทำเสร็จแล้วมันเป็นสากลพอที่จะให้เหตุการณ์วันนั้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์สังคมวันนี้ได้ เราไม่คิดว่าเป็นเรื่องโบราณ เพราะจริง ๆ คือ การฆ่าเด็กสมัยนั้นเป็นเรื่องเดียวที่รุนแรง แต่สำหรับ พ.ศ.นี้ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติมาก มีพระฆ่าเด็ก พ่อฆ่าลูก พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ญาติฆ่าเด็ก ซึ่งเรื่องแบบนี้จะว่าไปแล้ว โหดยิ่งกว่าที่ซีอุยฆ่าเด็กอีก นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะบอกว่า ถึงแม้ว่าคุณจะฆ่าซีอุย แต่คุณก็ไม่ได้ฆ่าจิตวิญญาณของ ปัญหาเด็กในปัจจุบันมันยิ่งรุนแรงหนักขึ้นเข้าไปอีก
หนูเล็ก สาเหตุแรกที่ทำเรื่องนี้เพราะมีนายทุนนอกและนายทุนไทยติดต่อให้เราทำ เราก็ดำเนินการไป ตอนนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต พอ ไป ๆ มาๆ คือ จากเรื่องที่ถูกว่าจ้างให้ทำ กลับกลายเป็นเรื่องที่เราอยากทำเอง เพราะมันมีมุมมองที่ร่วมสมัยมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ เรารู้สึกว่า ถ้าเราจะทำเรื่องนี้ขึ้นมา เราจะทำอย่างไร เราคิดว่า เรื่องแบบซีอุย ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มีการฆ่าทำร้าย การหลอกลวง ข่มขืนเด็ก หรือการหาประโยชน์จากเหยื่อที่อ่อนแอกว่า ถือเป็นหัวข้อที่คนในสังคมต้องช่วยกันดูแลรับผิดชอบ หรือสนใจที่จะให้บทเรียน ให้การจดจำ เพราะฉะนั้น ซีอุย คือหนึ่งในกรณีศึกษาผู้ที่เป็นเหยื่อ ตามล่าเหยื่อจากสังคม
รากฐาน “ซีอุย”
ดาว ในมุมมองของเรารากฐานที่ทำให้ซีอุยเป็นอย่างนี้ มันจะมาจากเด็ก ซีอุยก็มีพื้นฐานของความเป็นเด็ก สภาพแวดล้อมหรือสังคมบังคับให้เขาเป็นอย่างนั้น ฉากสงครามเป็นฉากใหญ่ที่บอกว่า อะไรที่ทำให้ซีอุยต้องเป็นคนแบบนี้
แต่เราไม่ได้คิดจะทำหนังเรื่องนี้เป็นสารคดี เรากำลังตีความใหม่ เราคิดว่าซีอุยเป็นแค่เงื่อนงำที่เราอยากจะพูด ซีอุยยังอยู่ในสังคมไทย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบความรุนแรง”
หนูเล็ก เราต้องการฉายปรากฏการณ์หนึ่งในสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องฆาตกรรม เราไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องการกินเครื่องในมนุษย์ มากกว่าว่า ทำไมเขาต้องกิน และทำไมเขาต้องฆ่าเพื่อกินตับ กินหัวใจไม่ใช่สังคมทั้งหมดที่ทำให้ซีอุยเป็นฆาตกรโรคจิต และสำหรับคนที่อ่อนแอแบบซีอุยที่มีปัญหาเฉพาะอยู่แล้ว เขาคงไม่ใช่คนธรรมดา แต่เขาก็มีประเด็น หรือมีปม มีปัญหาหรือโรคเฉพาะ อาจจะเป็นโรคทางกาย หรือโรคที่เขาสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาเอง ที่เขาก็ยอมรับมัน และนึกว่า เป็นทางออกของเขาที่จะมีชีวิตอยู่
ต้วนหลง “ซีอุย” ยุคปัจจุบัน
ดาว ซีอุย ก็เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ มาจากปักกิ่ง ที่เราเลือกนักแสดงจีนเพราะเราเห็นว่าทำให้เชื่อได้มากกว่า เพราะเขามาอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่บ้านเมืองของเขา เขาไม่เคยรับรู้เรื่องราวสังคมเมืองไทยมาก่อน ถ้าเป็นคนไทยอาจจะติดกับอะไรหลาย ๆ ของสังคมไทยอย่างไม่ตั้งใจ การได้นักแสดงคนจีนมาอยู่ในสังคมที่เขารู้สึกแปลกแยกจะทำให้ภาพออกมาเป็นธรรมชาติมากขึ้น
กว่าจะมาเป็น “ซีอุย”
หนูเล็ก การถ่ายหนังเป็นเรื่องของการลำดับความคิดที่ต่อเนื่อง การทำงานจึงไม่สามารถรวบยอดจบได้ในภายในระยะเวลา 1 - 2 เดือน อย่างบทเรื่องซีอุยนี้ใช้เวลาเขียนประมาณ 6 - 7 เดือน แก้ไขไปมาอยู่ 7 - 8 ครั้ง บิดไปจากเค้าโครงเดิมเยอะพอสมควร คนที่มีส่วนร่วมเขียนบทเรื่องนี้ด้วยเป็นนักเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ คือ เดบรา เคทมายเยอร์ ชาวอเมริกัน เรานั่งเขียนบทอยู่ด้วยกัน 2 - 3 สัปดาห์ แต่เราต้องทำการบ้านมาก่อน เตรียมข้อมูล ทำรีเสิร์ช เราจะเขียนบทตามที่เราอยากเขียน และเดบราจะเป็นคนเขียน จัดลำดับเหตุการณ์ บทสนทนา ตัดต่อในทัศนะของงานเขียนบท มีการเรียบเรียงเรื่องอีกที สาเหตุที่เราให้เดบราเข้ามาช่วยในส่วนของการเขียนบทด้วยเพราะโครงสร้างหนังเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เวลาที่เราไปพูดกับคนเขียนบทที่เป็นคนไทย นักเขียนบทไทยอาจจะถนัดการเขียนบทสนทนามากกว่า แต่พอว่าด้วยเรื่องโครงสร้างอาจจะกลายเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นคนเขียนบทเรื่องนี้จึงมีหลายคน มีหนูเล็ก (บุรณี รัชไชยบุญ), แฮม (ปารเมศ รัชไชยบุญ), ดาว (นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา) และเดบรา เคทมายเยอร์
หลังจากที่เราได้โครงสร้างเรื่องแล้ว เราก็ลองส่งให้เมืองนอกอ่านดู ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งใจจะขายตลาดต่างประเทศ เพียงแต่ว่าเราอยากได้โครงสร้างเรื่องที่เป็นสากล ซึ่งทางโน้นเขาเป็นนักวรรณคดี ฉะนั้นโครงสร้างเขาจะแม่นยำและสามารถตีความเรื่องกลับมาให้เราได้ว่า เราอยากได้อะไร พอเขาดูเสร็จ เราก็กลับมาเขียนใหม่เป็นการทำให้โครงสร้างเรื่องแข็งแรงยิ่งขึ้น แล้วเราก็ส่งกลับไปให้เขาดูอีกครั้ง รวมทั้งบินไปหาเขาด้วย ทำงานร่วมกันประมาณหนึ่งอาทิตย์ เขาก็ส่งบทกลับมาให้เรา เราก็กลับมาแก้เอง ระยะเวลาการทำงานสั้นมาก แต่เราก็ได้เรื่องที่ชัดเจน สื่อสารกันแล้วเข้าใจ ไม่ต้องอธิบายให้ฟัง เพราะเข้าใจตรงกันแล้ว บทเรื่องนี้ เราเขียนบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด จากนั้นแปลกลับเป็นไทย แล้วแปลเป็นอังกฤษอีกครั้ง เขียนแบบนี้ประมาณ 5 ครั้ง ถึงออกมาสมบูรณ์
การรวมตัวของ 2 ผู้กำกับหญิงแกร่ง
ดาว ดาวกับหนูเล็ก เรากำกับหนังโฆษณาร่วมกันมานานแล้ว เรารู้ใจกันดีมาก เรื่องนี้เราแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน อย่างหนูเล็กเขาจะถนัดในแง่ของละคร การแสดง การกำกับนักแสดง อารมณ์ของภาพยนตร์ ส่วนดาวก็จะคุมทีมงานในด้านองค์ประกอบของฉาก ภาพ มุมกล้อง และศิลปะ
หนูเล็ก พี่ดาว เชี่ยวชาญด้านฉาก Production Design ส่วนพี่หนูเล็ก จะถนัดด้านการกำกับ การแสดง จัดเตรียมและคัดเลือกนักแสดง เมื่อจุดอ่อนกับจุดแข็งมาเจอกันจึงส่งเสริมกันออกมาเป็นทีมงานที่สมบูรณ์
Executive Producer
ฐนิสสพงษ์ ศศินมานพ
ในวงการภาพยนตร์ไทย ประเด็นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ คือ เรื่องบทภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับการที่จะหาคนเขียนบทเก่ง ๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ ผมได้คุยกับคุณนิดา (สุทัศน์ ณ อยุธยา) มานานแล้ว ขณะที่แม็ทชิ่งเองมีความพร้อมในเรื่องของเงินทุนและบุคลากร เราจึงหยิบเรื่องซีอุยขึ้นมาทำ ผมคิดว่าซีอุยน่าสนใจ อย่างน้อย ๆ คนในปัจจุบันก็ยังให้ความสนใจในตัวซีอุยอยู่ และบทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยต่างประเทศร่วมกับคุณนิดา เพราะฉะนั้นเนื้อเรื่องจึงมีความเป็นสากลและน่าสนใจมากขึ้น
การที่หยิบซีอุยขึ้นมาทำมีเรื่องของการตลาดด้วย เพราะซีอุยเป็นเหตุการณ์ที่คนรุ่นนี้มีประสบการณ์ร่วม และยังรู้จักซีอุยเป็นวงกว้าง ซีอุยเกิดขึ้นในช่วง 40 - 50 ปีที่ผ่านมา สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก และช่วงนั้นก็มีข่าวของซีอุยมาตลอด แต่ถ้าทิ้งไว้อีก 4 - 5 ปี เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักซีอุย
ประเด็นใหญ่สำหรับหนังไทยในปัจจุบันอีกเรื่องคือ ทำยังไงให้คนดูตีตั๋วเข้าไปดูในโรงก่อน เพราะบางทีนอกจากหนังไทยที่เป็นคู่แข่งกันเองแล้ว เรายังมีคู่ต่อสู้ที่เป็นหนังฝรั่งด้วย ลองคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแล้วสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด ที่เหลือหนังไทยแบ่งกันเองประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหนังไทยจะอยู่รอดได้จึงต้องหาช่องทางอื่นมาสนับสนุนด้วย เช่นเดียวกับการที่คน ๆ หนึ่งจะเล่าเรื่องได้ดีก็ต้องอาศัยประสบการณ์ สังเกตจากผู้กำกับต่างประเทศ เห็นได้ว่าบางคนทำหนังปีละ 2 เรื่อง และส่วนใหญ่ก็ทำทุกปี อย่างน้อยสุดก็ปีละเรื่อง
สำหรับศักยภาพของ แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส เรามีจุดแข็งตรงที่ทีมงานครึ่งหนึ่งเราใช้ทีมงานจาก แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ซึ่งถือว่าเป็นทีมอาร์ตที่มีจุดแข็งทางด้านโปรดักชั่น ดีไซน์ รวมทั้งทีมเทคนิคเชี่ยล ซึ่งค่อนข้างจะลงตัว เพราะทำงานกันมานาน ก็จะรู้ถึงความรู้สึกของหนัง รวมทั้งเครื่องมือก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่า ใครที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างน้อยก็จะได้เห็นวิธีคิด วิธีถ่ายทอดเรื่องราวใหม่ ๆ ของหนังไทย รวมทั้งมุมภาพต่าง ๆ ที่น่าสนใจ.
สมชาย ชีวสุทธานนท์
แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส คือ อีกสาขาหนึ่งของ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ที่เปิดขึ้นมาเพื่อทำหนังไทยโดยเฉพาะ เมื่อเรามีความพร้อมและเห็นว่าอุตสาหกรรมหนังไทยยังมีช่องว่างที่เติบโตได้ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะทำหนังไทย
จุดประสงค์หลักจริง ๆ ที่ผมทำหนังไทย ผมไม่ได้ต้องการทำหนังไทยเพื่อขายในประเทศเท่านั้น แต่ผมมองไปถึงตลาดโลกด้วย การที่เราเริ่มทำตรงนี้ ผมหวังต่อไปในอนาคต เราจะมีงานที่เป็นผลงานของบริษัทไปร่วมงานกับต่างชาติในโอกาสต่อไป ไม่ว่าจะไปที่แอลเอ หรือตลาดเอเชียที่ดีที่สุด คือ ปูซาน เกาหลี เราสามารถดึงเอาเงินต่างชาติมาร่วมผลิตได้ เท่ากับว่าจะช่วยเราได้มากในเรื่องเงินลงทุน
เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดและหนังไทยก้าวต่อไปได้ คือตลาดต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเราเริ่มทำแล้ว หรือมีคนมาเริ่มทำมากขึ้น นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมหนังไทยก็จะดีขึ้น นี่คือจุดประสงค์ของเราที่ต้องการให้อุตสาหกรรมหนังไทยดีขึ้น และมีการแข่งขันการผลิตงานดี ๆ ออกมาสู่ตลาดภายในประเทศและตลาดโลก
สำหรับซีอุย หลังจากหนังออกมาเสร็จสมบูรณ์ทุกประการแล้ว เราจะเริ่มคุยกับผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศที่มีความคุ้นเคยกับภาพยนตร์ไทยในการนำหนังไปฉายต่างประเทศ และถ้าเขาดูเนื้อหาและต้องการจะเปลี่ยนแปลงบทเพื่อจะขายในต่างประเทศ บางทีเราอาจจะต้องมีการถ่ายทำเพิ่มเติมบ้าง และตรงนั้นได้ก็เท่ากับว่าเราได้ทุนคืนกลับมาในระดับหนึ่ง
Producer
ปณต อุดม
จุดเริ่มต้นของการนำซีอุยมาทำเป็นภาพยนตร์ครั้งนี้ เริ่มจากความคิดที่ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ได้แตกไลน์ธุรกิจภาพยนตร์ หรือ แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส ขึ้นมา เราจึงต้องการให้หนังเรื่องแรกที่แม็ทชิ่ง ฯ สร้างเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็น talk of the town ของคนในสังคม ฉะนั้นเราจึงหยิบเอาโปรเจ็คท์ซีอุยในมุมมองใหม่เลือกมาเป็นภาพยนตร์เปิดตัวบริษัท แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส
ซีอุย มุมมองใหม่นี้จะทำให้เรารู้สาเหตุเบื้องลึก ที่มาที่ไปของการกระทำต่าง ๆ มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ซีอุยมักถูกประณามและมองในแง่ร้ายหรือเป็นแพะของใครบางคน แต่พอเราเปลี่ยนให้ซีอุยมาเป็นตัวดำเนินเรื่องในเรื่องนี้ เราก็จะได้แง่คิดเห็นชีวิตของซีอุยมากขึ้น และได้มุมมองใหม่ที่ไม่ยังเคยเห็นและได้ยินมาก่อน
ในการทำงานหนังเรื่องนี้ซึ่งเป็นหนังย้อนยุค ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการทำงานหนักด้านข้อมูล กับการทำรีเสิร์ชพร้อม ๆ กับการทำ pre - production อยู่ประมาณ 5 — 6 เดือน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เครื่องแต่งตัว รวมไปถึงการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ปี พ.ศ. 2499 - 2500 จากบุคคลที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในเหตุการณ์จริง ร้านถ่ายรูปที่ตามถ่ายรูปเหตุการณ์ตลอดที่จังหวัดระยอง แพะรับบาปซีอุยคนแรก พ่อของเหยื่อรายสุดท้าย เอกสาร หนังสือพิมพ์สมัยนั้น และจากคำให้การโดยตรงของซีอุย ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะสอดแทรกอยู่ในทุกอณูของหนังเรื่องนี้ทำให้หนังออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องข้อมูล คือ โลเกชั่นหรือสถานที่ถ่ายทำที่เข้ากับคอนเซ็ปต์หนังเรื่องนี้ที่ต้องการให้ภาพออกมาสวย เราได้รับเกียรติจากโปรดักชั่น ดีไซน์ มือดี อย่าง คุณเอก เอี่ยมชื่น มาช่วยมองหาโลเกชั่นให้หลายสถานที่ทั่วทุกมุมของประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับทีมโปรดักชั่น ดีไซน์ ของ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ ซึ่งเป็นทีมที่มีจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยาวนาน ฉะนั้นทุกฉากของหนังเรื่องนี้จึงผ่านตามาจากความทุ่มเทของทีมงานนับร้อยชีวิตเพื่อภาพที่ออกมาสวยและสมจริงกับยุคสมัยนั้น
เมื่อเสร็จจากการทำ pre — production ก็มาถึงขึ้นตอนการถ่ายทำ ซึ่งตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะเปิดกล้องในช่วงหน้าหนาว เดือนตุลาคม 2545 แต่เนื่องจากทีมงานต้องไปสร้างฉากหมู่บ้านชาวจีนขึ้นมาใหม่ที่เชียงใหม่ที่เดิมเป็นเพียงพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านกินระยะเวลาอยู่เป็นเดือน เมื่อไม่ทันจึงเลื่อนมาเป็นเดือนมกราคม ซึ่งฝนก็ยังตกอยู่ ปัญหาอื่นก็เริ่มตามมา บางฉากที่ทีมงานตั้งใจไว้ว่าจะถ่ายทำสถานที่หนึ่งแต่เมื่อไปถึงสภาพอากาศและสถานที่ไม่เอื้ออำนวยทีมงานก็ต้องตัดใจต้องไปหาโลเกชั่นอื่นแทน เพราะต้องทำงานแข่งกับเรื่องเวลาและงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างฉากขึ้นมาใหม่โดยตกแต่งจากสถานที่เดิม เช่น ฉากโรงสีที่ทับสะแกก็ไปสร้างฉากเอาจากโรงสีที่สุพรรณ บรรยากาศของเยาวราชเมื่อ 50 ปีก่อน เราก็ยกกองไปถ่ายที่พังงา หรือระยองก็ไปถ่ายที่สามร้อยยอด มีเพียง จ.นครปฐม ตรงพระปฐมเจดีย์ที่เราถ่ายจากสถานที่จริงซึ่งเป็นถ้ำที่ซีอุยเคยฆ่าเหยื่อ
และเพราะเป็นเรื่องราวสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้กำกับ ฯ และทีมงานจึงไม่ประมาททั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ โดยเฉพาะพี่ดาว ผู้กำกับฯ ซึ่งเป็นคนนับถือกรมหลวงชุมพรฯ และไม่ได้ต้องการลบหลู่ จึงให้ทีมงานเตรียมของไหว้เจ้าที่เจ้าทางทุกที่ ทุกคิวที่มีการถ่ายทำ ตั้งแต่พิธีบวงสรวงเปิดกล้องจนกระทั่งปิดกล้อง
สำหรับผมแล้วความยากของการทำหนังเรื่องนี้คงเป็นการรวมขุนพลในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่วิเศษสุดและเป็นความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ ซึ่งทีมงานทุกฝ่ายต่างก็มีความตั้งใจและเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ช่วยกันจัดการให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
นักแสดง
ต้วนหลง (Duang long) รับบทเป็น ลี่ฮุย (ซีอุย) แซ่อึ้งหนุ่มชาวจีนที่มีโรคหอบเป็นโรคประจำตัว เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเสี่ยงโชค แต่โชคชะตากลับพลิกผันให้ถูกกลั่นแกล้งสารพัด ทำให้เขากลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับสังคมไทยเมื่อ 40 กว่าปีก่อน
ต้วนหลงเป็นนักแสดงชาวปักกิ่ง ประเทศจีน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เซ็นทรัล ปาร์ค อะคาเดมี สาขาการแสดงละครเวที สมัยเรียนต้วนหลงชื่นชอบศิลปะละครเวทีเป็นพิเศษ และได้รับคัดเลือกให้แสดงละครเวทีของมหาวิทยาลัยถึง 8 เรื่อง
“เมื่อผมได้รับบทเรื่องนี้มาอ่าน ผมนึกภาพตามแล้วเกิดความรู้สึกท้าทายขึ้นในใจ มีเหตุผลอยู่ 3 ข้อที่ผมตัดสินใจรับเล่น ข้อแรกคือ ประเทศไทยเป็นประเทศในฝันที่ผมอยากมาท่องเที่ยวนานแล้ว ข้อสอง ผมอยากร่วมงานกับทีมงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักจะได้มีประสบการณ์มากขึ้น ข้อสุดท้าย เพราะผู้กำกับและคาแรกเตอร์ของตัวซีอุยเอง การตีความซีอุยเวอร์ชั่นนี้ผู้กำกับได้มีการเสริมมุมมองช่องว่างที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง สังคม ญาติ เพื่อนฝูง ทุกคนมีส่วนที่ทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้ เรื่องราวจึงมีต้นสายปลายเหตุมากขึ้น ซีอุยจึงไม่ใช่ฆาตกรที่ไม่มีที่มาที่ไปอีกต่อไป และนับจากนี้คงเป็นหน้าที่ผมและหน้าที่ของหนังเรื่องนี้ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้คนดูได้ชม เพื่อให้คนในสังคมมีความรัก ความอบอุ่น และความสนใจคนรอบข้างมากขึ้น”
“ซีอุยในมุมมองของผม จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ ไม่รู้เรื่องราวอะไร แต่ภายหลังเขากลับเป็นบุคคลที่คนไทยทั้งประเทศหวาดกลัวและเกลียดชัง เพราะจิตใจของซีอุยขาดความรัก ความอบอุ่นและความสนใจจากสังคมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ละขั้นตอนในตัวแสดงนี้ทำให้ผมรู้สึกหนักใจ ผมต้องพยายามทั้งอารมณ์ จิตใจ และความรู้สึกถ่ายทอดออกมา ผมใช้เวลามากในการศึกษาบททำการบ้าน เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้สึก ความกดดัน ทุกสิ่งทุกอย่างของซีอุยออกมาให้เข้าถึงจิตใจคนดูมากที่สุด สำหรับการแสดงผมมักจะให้ความสำคัญในความเป็นคนธรรมดาของตัวละคร ที่มีสีสันและมีชีวิตชีวา บุคลิกของผมกับซีอุยนั้นต่างกันมาก ภายนอกซีอุยเป็นคนที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ตัวผอม และเมื่อผมได้รับบทนี้ผมก็ต้องลดน้ำหนักลงตามที่ผู้กำกับต้องการเพื่อความสมจริงด้วย”
“อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ผมต้องเผชิญ นอกจากความกดดันทางด้านสภาพแวดล้อมในต่างแดนแล้ว ด้านภาษาและทีมงานที่ต่างกันทำให้ผมรู้สึกกังวลในช่วงแรก หลังจากนั้นผมจึงเริ่มเข้าใจและรู้ว่าทีมงานตั้งใจทำงานกันมาก เห็นได้จากภาพตัวอย่าง ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก ถ้าไม่มีทีมงานทุกคน ก็คงจะไม่มีหนังเรื่องนี้ และก็จะไม่มี Character ของซีอุยตัวนี้ขึ้นมาได้ แต่ยิ่งกว่านั้น ผมจะต้องแสดงอย่างไรกับ Character ซีอุยที่บทสรุปดีเหลือเกิน โดยเฉพาะความคิดความอ่านของผู้กำกับที่มีต่อเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงผมได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ตากล้อง ช่างจัดแสง ที่มีส่วนช่วยให้ผมสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครตัวนี้จากคนที่ไม่รู้อะไรเลย สดใส จนมาสู่คนที่ถูกรังแก และถูกสังคมทอดทิ้ง กลายเป็นทำร้ายคนอื่นได้สำเร็จ”
“สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นจากตัวละครซีอุยมาตลอด คือ ความกดดันที่มีอยู่ในตัวเขา ตั้งแต่ที่ผมรับบทมาศึกษาและได้พูดคุยกับผู้กำกับ รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมได้แนวคิดว่า คนเราเกิดมาไม่มีใครทำชั่วตั้งแต่เกิด ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีผล ถึงตอนนี้ผมยังได้เวลาที่ผู้ใหญ่ห้ามเด็กเสมอว่าอย่าออกไปนะเดี๋ยวซีอุยจะมากินตับ ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจมากที่คนจีนคนหนึ่งทำให้สังคมไทยเกิดความวิตกกังวล เสมือนเป็นภาพหลอนมาจนถึงทุกวันนี้ และผมก็เศร้าใจในสิ่งที่ซีอุยถูกกระทำ กลั่นแกล้งต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ผมอยากขอโทษแทนซีอุยในสิ่งที่เขาทำผิดต่อสังคมไทย”
เปรมสินี รัตนโสภา (ครีม) รับบทเป็น ดารา
(ยังมีต่อ)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version