กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สนพ.
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ครั้งที่ 4/2547 (ครั้งที่ 110)
ในวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ที่ประชุมได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) และมีมติเห็นชอบค่าเอฟที สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนตุลาคม 2547 - มกราคม 2548
ที่ระดับ 43.28 สตางค์ต่อหน่วย หรือปรับขึ้นจำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 2.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.22
ทั้งนี้ ในการคำนวณค่าเอฟทีครั้งนี้ ราคาเชื้อเพลิงยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำลดลง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด เพราะเข้าช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น โดยราคาก๊าซธรรมชาติ สูงขึ้นจากช่วงก่อน (มิ.ย.-ก.ย.47) จำนวน 4.63 บาทต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 156 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดีเซล สูงขึ้นจำนวน 1.75 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 13.64 บาทต่อลิตร และน้ำมันเตา สูงขึ้นจำนวน 96 สตางค์ต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 8.95 บาทต่อลิตร ส่วนแนวทางการลดต้นทุน กฟผ. ได้วางแผนปรับปรุงและเร่งบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงอีกชนิดหนึ่งที่มีต้นทุนราคาถูก ขณะที่ ปตท. พยายามเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ
ลดภาระการต้องนำน้ำมันมาผลิตไฟฟ้าแทน
"อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ประชาชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยลดค่าไฟได้เช่นกัน ด้วยการประหยัดไฟ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายของชาติได้เท่านั้น แต่ประชาชนยังประหยัด ค่าไฟและได้ส่วนลดหากสามารถประหยัดไฟได้อย่างน้อย 10% ก็จะได้ส่วนลดจำนวน 20% จากที่ประหยัดได้ ตามโครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--