กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทย (ช.ส.ท.) แถลงข่าวการจัดงาน “วันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day)” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินและประชาชนทั่วไป ในวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2547 เวลา 14.00 น. — 16.00 น. ณ โรงแรมเอเซีย
พญ. พิมลพรรณ กฤติยรังสรรค์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ผู้ก่อตั้งชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้ชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้น เกิดเป็นลักษณะปื้นแดง และเป็นสะเก็ดสีเงินด้านบน ถ้าแกะหรือเกาจะทำให้สะเก็ดหลุดลอก และมีจุดเลือดออก ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง มากติดอันดับ 1 ใน 5 และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในปี 2536 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 4.36% ที่มารักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง และเพิ่มขึ้นเป็น 7.90 %ในปี 2546“
“ทั้งนี้ เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ศรีษะ แขน ขา บริเวณข้อศอกหรือเข่า ลำตัว เล็บมือ เล็บเท้า และฝ่ามือ ฝ่าเท้า พบได้ประมาณ ร้อยละ 1-3 ของประชากรทั่วไป ชายและหญิงพบได้ในอัตราเท่าๆกัน แต่จะพบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี ซึ่งประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย และแม้โรคนี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่จะมีผลต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ป่วย”
“สาเหตุที่การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ป่วยรักษาไม่ต่อเนื่อง มุ่งแสวงหาการรักษาใหม่ๆ เปลี่ยนแพทย์และสถานพยาบาล ดังนั้นแพทย์ผิวหนังจากทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกันจัดตั้งชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมุ่งหวังจะสร้างเครือข่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินไปในแนวทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องและครบวงจร เน้นการดูแลรักษาแบบองค์รวม คือ กาย จิต สังคม ”
พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน แพทย์ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินว่า “การรักษาโรคสะเก็ดเงินกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น มาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน ถ้าผื่นมีเฉพาะที่ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาทา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายขนาน แต่ยาทามีข้อเสียคือ ผู้ป่วยที่มีแผลหลายที่จะต้องเสียเวลากับการทายา และยาบางชนิดก็เหนียวเหนอะหนะ บางชนิดมีกลิ่น มีสีที่ไม่น่าใช้เลย ส่วนยารับประทานก็มักมีผลต่ออวัยวะอื่น เช่น ไขกระดูก ตับ ไต หรือบางชนิดมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเจาะตับตรวจ ยิ่งกว่านั้น ยาบางตัวอาจทำให้เกิดมะเร็งในภายหลัง ส่วนการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตก็เป็นวิธีการยุ่งยาก ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง”
“ในอนาคต การรักษาด้วยยาฉีด biologic คงจะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ในขณะนี้มีการพัฒนายา กลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง ยา biologic เป็นสารสังเคราะห์โปรตีน ยับยั้งการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ผิวหนัง ไม่มีผลต่ออวัยวะภายใน ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ยาในกลุ่มนี้ ได้รับการพัฒนาเป็นยาฉีดเข้าในชั้นไขมันใต้ผิวหนังซึ่งผู้ป่วยสามารถฉีดได้เองเหมือนผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งต้องฉีดอินซูลิน โดยฉีดเพียงสัปดาห์ละครั้ง การพบยานี้ น่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ ประสิทธิภาพของยาในผู้ป่วยคนไทยคงจะต้องมีการศึกษาต่ออีกสักระยะ” รศ. พญ. พรทิพย์ กล่าวเสริม
รศ. พญ.ณัฎฐา รัชตะนาวิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทย แพทย์ประจำโรงพยาบาลรามาธิบดีอธิบายเกี่ยวกับอาการของโรคสะเก็ดเงินว่า “โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีการรักษาทั้งยาทาภายนอก ยารับประทาน และยาฉีดที่สามารถควบคุมให้โรคสงบได้ดี โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตในสังคม เนื่องจากผื่นของโรคสะเก็ดเงินสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้คนในสังคมที่ไม่เข้าใจเกิดความกลัว ไม่กล้าสัมผัส หรือใกล้ชิดผู้ป่วย ทางชมรมฯ จึงต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับทั้งผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ คนใกล้ชิด และคคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
พร้อมกันนี้ชมรมโรคสะเก็ดเงินแห่งประเทศไทย ยังได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และประชาชนทั่วไปที่สนใจร่วมงานวันสะเก็ดเงินโลก เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินได้ในงาน “วันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day)” ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้ความรู้และไขปัญหาเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2547 นี้ ระหว่างเวลา 14.00 — 16.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพ โดยผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ สถาบันโรคผิวหนัง โทร. 0-2354-8036-40 ต่อ 134 และ 106 ในวันและเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ข้อมูลข่าวเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
น.ส.จรินธร ธนาศิลปกุล, น.ส.รุ่งนภา ชาญวิเศษ
โทร. 0-2653-2717-9, 0-1494-8131--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย รวมใจฝ่าวิกฤต COVID-19 บริจาคโลหิต พร้อมมอบหน้ากาก Face Shield แก่สภากาชาดไทย
- ธ.ค. ๔๓๘๕ เพราะกลิ่นอับไม่ใช่เรื่องเล่นๆ Beko เผยสาเหตุและปัญหาจากกลิ่นอับบนเสื้อผ้าพร้อมเคล็ดลับเพื่อสุขอนามัยที่ดี
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ผลการศึกษาของวีซ่า เผยวิธีการชำระเงินคอนแทคเลสใหม่ล่าสุด ด้วยการ 'แตะเพื่อจ่าย’ ผ่านสมาร์ทโฟน ในเอเชียแปซิฟิก