กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สนพ.
กรุงเทพมหานคร โชว์ผลการประหยัดพลังงาน ไตรมาส 2 ลดใช้ไฟฟ้าติดต่อกัน 3 เดือน หน่วยการใช้ไฟฟ้าลดแล้วถึง 2.38 ล้านหน่วย รวมเป็นเงินที่ประหยัดได้กว่า 6 ล้านบาท
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้การประหยัดพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนและประชาชนเกิดความตระหนัก และใช้พลังงานอย่างคุ้มค่านั้น จากการติดตามผลการใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2547 เปรียบเทียบกับเดือนเมษายน — มิถุนายน 2546 ของทุกกระทรวง รวมศาล ส่วนราชการกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และหน่วยงานไม่สังกัดกระทรวง รวม 29 หน่วยงาน พบว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 5.9 ล้านหน่วย คิดเป็นเงิน 14.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ามีหลายหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการประหยัดพลังงานอย่างแข็งขัน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงติดต่อกันทุกเดือน อาทิ กรุงเทพมหานคร สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ติดต่อกันถึง 3 เดือน โดยเดือน เม.ย. ลดได้ 1.09% เดือน พ.ค. ลดได้ 5.23% และเดือน มิ.ย. ลดได้ 5.72% ตามลำดับ
ในส่วนของการประหยัดไฟฟ้าในภาคครัวเรือน พบว่าประชาชนชาว กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวง ก็ให้ความร่วมมือในการประหยัดพลังงานเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีครัวเรือนที่ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากโครงการประหยัดไฟ กำไร 2 ต่อ จำนวน 6 แสนครัวเรือน จากจำนวนทั้งสิ้น 1.96 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 30% ของทั้งหมด สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 84 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 210 ล้านบาท
ด้านคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการประหยัดพลังงานอย่างมาก โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายการใช้พลังงาน ซึ่งได้มอบหมายให้นายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษา และมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน เป้าหมาย แผนการปฏิบัติการ มาตรการและกิจกรรม ให้ทุกหน่วยงานของ กทม. ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5
สำหรับมาตรการการประหยัดน้ำมัน ได้ควบคุมการใช้รถยนต์อย่างใกล้ชิดด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ หากเจ้าหน้าที่ต้องการไปทางเดียวกัน ให้ใช้รถคันเดียวกัน ใช้การสื่อสารแทนการเดินทาง นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการรณรงค์ปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อประหยัดน้ำมันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ นำรถเข้ามาตรวจเช็คสภาพ และหมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนการประหยัดการใช้ไฟฟ้า ได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างประหยัด เช่น ไม่เปิดไฟในบริเวณที่ไม่มีคนอยู่ ปิดไฟและปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักเที่ยง และรณรงค์ให้ใช้บันไดหากต้องการขึ้นลงชั้นเดียวแทนการใช้ลิฟท์ เป็นต้น
และจากการรายงานผลการประหยัดการใช้ไฟฟ้าไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายน — มิถุนายน 2547 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2546 จาก การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พบว่า กทม. มีสถิติการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยเดือนเมษายน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 0.18 ล้านหน่วย เดือนพฤษภาคม ลดลงได้ 1.03 ล้านหน่วย และเดือนมิถุนายน ลดลงได้ 1.17 ล้านหน่วย รวมหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดได้ทั้งสิ้น 2.38 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้รวมกันกว่า 6 ล้านบาท
“รู้สึกดีใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม. ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังจนประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้เพราะปัญหาพลังงานในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา และขอให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านร่วมมือกันประหยัดพลังงานต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หน่วยงานภาคเอกชนและประชาชน” นางณฐนนทกล่าว--จบ--