กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--วว.
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงแนวนโยบายการดำเนินงานเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า จะมุ่งเน้นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีผลกระทบสูงหรือมีส่วนเข้าไปผลักดันให้อุตสาหกรรมขยายผลไปได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของ SMEs รวมทั้งจะต้องมีความสมดุลในการทำงาน มีความเชื่อมโยงและประสานงานกันระหว่างกลุ่มวิจัยพัฒนา กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีและกลุ่มบริการ
สำหรับโครงการวิจัยที่จะผลักดันในอันดับแรกนั้น จะมุ่งเน้น 3 โครงการหลักด้วยกัน คือ โครงการความร่วมมือกับองค์กรการวิจัยภายนอก , โครงการที่ดำเนินตามนโยบายหลักของรัฐบาลและโครงการพัฒนาความพร้อมทางด้านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนั้น จะมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นต้นแบบงานวิจัยของประเทศไทย รวมทั้งจะจัดทำฐานข้อมูลให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลงานและผลการดำเนินโครงการที่ วว. ดำเนินการซึ่งจะมีฐานข้อมูลที่แบ่งแยกชัดเจน โดยขณะนี้ วว. ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหย , ฐานข้อมูลสมุนไพร และได้ทำการเผยแพร่เพื่อให้สังคมรู้จัก วว.มากขึ้นอีกทางหนึ่ง
"การทำงานในปัจจุบันจะอาศัยเพียงสาขาใดสาขาหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ในหลาย ๆ สาขามารวมกันจึงจะได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม หากเราพัฒนาความรู้เฉพาะด้านจะไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดได้ เราจะต้องเอาความรู้หลาย ๆ ด้านมาทำให้เป็นรูปธรรมที่พร้อมถ่ายทอดได้ จุดอ่อนของบ้านเราส่วนหนึ่งก็คือ วิจัยแล้วก็จบแค่นั้น แต่สะพานเชื่อมระหว่างการวิจัยไปสู่การใช้ในเชิงพาณิชย์ยังมีช่องว่างที่ใหญ่มาก การที่ วว. มีความพร้อมในหลาย ๆ สาขา จะทำให้ช่องว่างเหล่านั้นน้อยลงได้.. การวิจัยพัฒนาไม่ใช่จะเรียนรู้กันได้ในวันเดียว อันนี้ต้องการประสบการณ์ในการทำงาน" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สำหรับการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคตนั้น ดร.นงลักษณ์กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความร่วมมือทำงานเป็นทีมและมีความเชื่อมโยงกันของหน่วยงานทุก ๆ ฝ่าย ฉะนั้นหากแหล่งที่ให้ทุนสามารถมีกรอบและขอบเขตที่ชัดเจน ให้ทุนอยู่บนพื้นฐานที่มุ่งเน้นว่ามีหลาย ๆ หน่วยงานมาร่วมกันก็จะทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นหากพยายามดึงองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นมาร่วมมือกับองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง ได้ทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งนี้หากมีแนวทางทำให้เกิดความร่วมมือดังกล่าว ทุก ๆ องค์กรที่รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณก็จะได้ผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น--จบ--