กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ กับตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2547 ณ โรงแรมดุสิตรีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี เพื่อผลักดันการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่แบบบูรณาการ
ในช่วงแรกของการประชุมในช่วงเช้า SME Bank ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ “พลิกบทบาท SME Bank สู่ธนาคารเพื่อการสร้างสังคมผู้ประกอบการไทย” ต่อที่ประชุม โดยเน้นบทบาทใหม่ของ SME Bank ที่จะส่งเสริม SME ให้มีความแข็งแกร่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า “SMEs เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เราได้ผ่านมาแล้วใกล้ 4 ปีแต่ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกมาก กรณีของ SME Bank นั้นไม่ใช่แบงก์ธรรมดา การดูแล SME นั้นไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อให้สินเชื่อ หรือไม่ให้มีหนี้สูญหรือมีกำไร แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีความสามารถเกิดขึ้นมาและอยู่รอด แข็งแรง
SME Bank ต้องผ่าโครงสร้างใหม่ คนของแบงก์จะไม่ใช่นั่งอยู่ที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อ แต่ต้องจัดทัพให้มีผู้เชี่ยวชาญ มีนักพัฒนา ให้คำปรึกษา ยกระดับ และสนับสนุนการเงินแก่ SME ต้องมีคนที่สามารถออกไปให้คำปรึกษาแก่แต่ละอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น ซอฟท์แวร์ได้โดยเฉพาะ เพราะแต่ละอุตสาหกรรมต้องการคำแนะนำ วิธีการดูแลที่ไม่เหมือนกัน และต้องดูแลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เหมือนพ่อดูแลลูก เหมือนพี่ดูแลน้อง”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า การวัดความสำเร็จของ SME Bank ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคาร โดยไม่เพียงให้ความสำคัญแค่การปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรจะต้องครอบคลุมโดยเฉพาะเรื่องการสร้างผู้ประกอบการ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้เจริญเติบโตและหาแหล่งทุนในระยะยาวเพิ่มเติมได้อีกด้วย
การดำเนินงานของ SME Bank ที่ผ่านมาเป็นระยะที่ 1 ซึ่งบรรลุในแง่ของการทำให้ SME อยู่รอดได้ แต่นับแต่นี้ไปเป็นระยะที่ 2 โดยเน้นการสร้าง SME ในกลุ่มที่สอดคล้องกับนโยบายต้องทำให้ดีขึ้น มั่งคั่งขึ้น ต้องสร้าง Smart SME สร้างคนที่มีความคิด มีศักยภาพแต่ขาดทักษะ ขาดเงินทุน และเมื่อแข็งแรงก็จะสามารถไปต่างประเทศได้ เช่น ธุรกิจซอฟต์แวร์ เชนภัตตาคาร อาหารแปรรูป เป็นต้น
"SME Bank จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ ปรับบทบาทใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับและขีดความสามารถของบุคลากร และที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหาร พนักงาน ผู้จัดการสาขาของธนาคาร และจำเป็นต้องเอาคนนอกที่มีความสามารถหรือรอบรู้ใน SME เป้าหมายมาช่วย เพื่อให้ SME Bank ขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง
ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างยิ่งที่ผู้บริหาร และผู้จัดการสาขาของธนาคารได้มาร่วมกันระดมความคิด สร้ายุทธศาสตร์ใหม่ โดยมีหน่วยงานพันธมิตร เช่น ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้ทุกหน่วยงานเห็นภาพรวม และในที่สุดจะสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกันได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว--จบ--
- ๗ พ.ย. SME D Bank เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย อัดแน่นโปรแกรมพัฒนาตลอดเดือน พ.ย.67 หนุนยกระดับธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ
- ๖ พ.ย. SME D Bank ลงพื้นที่โซนภาคกลางมอบนโยบายการทำงานไตรมาสสุดท้าย เดินหน้าเต็มพิกัดหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนคู่การพัฒนาพาเติบโตยั่งยืน
- ๗ พ.ย. SME D Bank จัด 'Town Hall Meeting' มอบนโยบายไตรมาสสุดท้ายของปี เดินหน้าเต็มกำลังหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนคู่การพัฒนาพาเติบโตยั่งยืน