กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า โครงการ Peak Cut เป็นโครงการที่ กฟผ.
ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่แล้ว เดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยแต่ละปีมีอยู่ประมาณ 40-100 ชั่วโมง ซึ่งไม่คุ้มต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ. จึงขอให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตไฟฟ้าในส่วนนี้แทน
โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศจากระบบของ กฟผ. ให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นไป
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการในประเทศกว่า 2,000 ราย ที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองอยู่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 290 ราย ยื่นใบสมัครแล้ว 109 ราย คิดเป็นกำลังไฟฟ้าในการเดินเครื่องรวมประมาณ 220 เมกะวัตต์
ส่วน 47 รายแรกที่ลงนามแล้วมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 112 เมกะวัตต์ เมื่อเปรียบเทียบกับ Power Development Plan แล้วสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าเพื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ประมาณ 150 ล้านบาท
นายไกรสีห์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าตอบแทนเป็น 3 ส่วน คือ กฟผ. จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ในวงเงินโดยเฉลี่ย ประมาณ 7 แสนบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ที่เข้าร่วมโครงการ
ส่วนที่สอง ผู้ประกอบการจะได้รับค่าความพร้อมจ่าย คือ ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจ่ายไฟ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่อง ยกเว้นค่าเชื้อเพลิง เฉพาะเดือนที่ได้รับแจ้งให้เตรียมพร้อมจ่าย โดย กฟผ. จะจ่ายตามขนาดการผลิตที่ได้รับแจ้งไว้ในสัญญา และคิดตามอัตราค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสำรองที่ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คิดกับผู้ประกอบการ คือ 66.45 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อเดือน
ส่วนที่สาม ผู้ประกอบการจะได้รับค่าพลังงานไฟฟ้าตามพลังงานที่จ่ายจริง โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าความพร้อมจ่าย และค่าพลังงานไฟฟ้า เป็นรายเดือนภายใน 45 วัน หลังจากสิ้นเดือน
นายไกรสีห์ กล่าวว่า กฟผ. กำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการนี้ไว้ ประมาณ 2,676 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ ลงนาม ซื้ออุปกรณ์ GIS 230 เควี สำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ม.ค. ๒๕๖๘ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา
- ม.ค. ๒๕๖๘ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา