กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--อินคริสซ์ เน็ทเวิร์ค
นายโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด
ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า จากการไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร SIAL ที่ ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับเข้าพบประธานสมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานของยุโรป เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ผลิต และข้อมูลของอุตสาหกรรมระหว่างกัน ซึ่งทางผู้ผลิตรายใหญ่และตัวแทนสมาคมผู้ผลิตของ EU ให้ข้อคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ได้ติดตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องจากประเทศไทยได้แย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตในยุโรปเอง จนเริ่มทำให้ผู้ผลิตในฝรั่งเศสและฮังการี ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักทั้ง 2 ประเทศที่ประกอบอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานอยู่ในภาวะที่ ลำบาก เนื่องจากราคาสินค้าจากประเทศไทยรวมค่าขนส่งและภาษีนำเข้าแล้วเมื่อส่งไปขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ผู้ประกอบการในยุโรปขายให้กับลูกค้าในประเทศแถบนั้นพอสมควร และยังไม่มีแนวโน้มที่สินค้าจากประเทศไทยจะปรับราคาขายสูงขึ้น ทั้ง ๆที่ต้นทุนผลิตของผู้ประกอบการทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากราคาภาชนะบรรจุและค่าขนส่ง
“เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ผลิตของฝรั่งเศส และฮังการีได้มีการประชุมร่วมกัน ในนามของสมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานของยุโรป และได้มีข้อสรุปให้กำหนดมาตรการเพื่อปกป้องผู้ผลิตในท้องถิ่นโดย
คาดว่าน่าจะเป็นการหยิบยกเรื่องการกำหนดอัตราพิกัดนำเข้าสินค้าการเกษตร (Agricultural Levy) และ การกำหนดโควตานำเข้า มาใช้เป็นมาตรการควบคุมกลไกการตลาดของสินค้าราคาต่ำจากประเทศไทย” นาย
โรจน์กล่าวและว่าหากมาตรการทั้งสองมีผลบังคับใช้จริง จะทำให้สินค้าจากประเทศไทย มีราคาขายรวมค่า
ใช้จ่ายต่าง ๆ และภาษี มีราคาสูงขึ้นก่อนจะถึงผู้นำเข้ารวมทั้งหากมีการกำหนดปริมาณนำเข้าด้วยแล้วยิ่งจะ
ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยมีอุปสรรคในการทำการตลาดเป็นอย่างมาก ตลาดในยุโรปถือเป็นตลาดสำคัญของ
สินค้าข้าวโพดหวานจากประเทศไทย โดยในปี 2546 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวโพดหวานไปยังภูมิภาคนี้
40,570 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,196 ล้านบาท ขณะที่ยอดส่งออกตั้งแต่ มกราคม ถึง กันยายน ปี 2547 มี
ยอดส่งออกทั้งสิ้น 38,152 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,190 ล้านบาท เกือบเท่าปี 2546 ทั้งปี โดยมีประเทศ
เยอรมัน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และ สเปน เป็นตลาดที่สำคัญของประเทศไทย ขณะเดียวกันหาก
พิจารณาราคาขายต่อตันแล้วจะพบว่าราคาสินค้าจากประเทศไทย ต่ำกว่าราคานำเข้าเฉลี่ยของประเทศผู้นำ
เข้ามากกว่าร้อยละ 20 จนสินค้าของประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสินค้าเกรดที่มีราคาต่ำที่ผู้ซื้อสามารถต่อรอง
ราคาจากผู้ขายที่มีอยู่หลายรายในประเทศไทยได้ตลอดเวลา
กรรมการผู้จัดการ RKI กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า จะนำปัญหาดังกล่าวหารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตผักและผลไม้กระป๋อง เพื่อชี้แจงผลกระทบให้กับกระทรวงพาณิชย์รับทราบและหาแนวทางแก้ไขต่อไป เนื่องจากอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลไปยังผู้ประกอบการทุกรายแล้ว ยังอาจมีผลกระทบถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดหวานอีกด้วย
รายละเอียดข่าวเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณจินตนา ตรีพิชิต
บริษัท อินคริสซ์ เน็ทเวิร์ค เอเจนซี แอนด์ คอนซัลแทนส์ จำกัด
โทร. 02 9861135 , 02 9861854--จบ--