กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอรุกเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย หลังประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยจับมือกับสถาบันสิ่งทอตั้งโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการผลิต การตลาด และการ ขนส่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งระบบ
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอมีแผนที่จะขยายบทบาทในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยจะร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการดำเนินโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อจัดทำนโยบายและแผนงานในการพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาขีดความสามารถในด้านการผลิต การตลาด การขนส่ง ตลอดจนการเชื่อมโยงการผลิตของอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ทั้งนี้ บีโอไอร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจะดำเนินการศึกษาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีอยู่จำนวนมาก โดยเริ่มต้น ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือกรุงเทพฯฝั่งธนบุรี บริเวณถนนเพชรเกษม ประกอบด้วย บางบอน ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม คลองสาน จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และจ.ราชบุรี เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาทิ การกระจายตัวของผู้ประกอบการ ขีดความสามารถของผู้ประกอบการ การค้า การตลาด การขนส่ง ตลอดจนเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในรูปคลัสเตอร์
“ อุตสาหกรรมสิ่งทอมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 250,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานปีละกว่า 1 ล้านคน บีโอไอจึงต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมากยิ่งขึ้น “ นายสาธิตกล่าว
ปัจจุบัน บีโอไอมีหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ หน่วย BUILD (BOI Unit for Industrial Linkage Development) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการจับคู่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่างบริษัทผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ กับผู้ผลิตชิ้นส่วนหรืออุตสาหกรรมสนับสนุนซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก เพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ซึ่งในช่วงปี 2544 — 2547 มีการซื้อขายสินค้าจากการเชื่อมโยงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นเงินประมาณ 6,200 ล้านบาท
ด้าน นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวนี้ สถาบันจะทำการศึกษาองค์ประกอบและการกระจายตัวของ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้เห็นภาพของอุตสาหกรรมที่ชัดเจนและถูกต้อง โดยสถาบันจะสำรวจเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 300 โรงงาน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย โรงงานปั่นด้ายทอผ้า โรงงานฟอกย้อม โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด และจัดประชุมใหญ่เพื่อสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุงห่มในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะนำผลการศึกษาที่ได้ทั้งหมดเสนอให้กับบีโอไอ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาการลงทุนในเชิงคลัสเตอร์ รวมทั้งจะเป็นต้นแบบในการสร้างคลัสเตอร์สิ่งทอในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ สถาบันสิ่งทอแนะผู้ประกอบการสิ่งทอหันปรับคุณภาพวัสดุ เน้นอิงกระแสรักษ์โลก จะอยู่ได้คงทนกว่าแข่งกันด้วยราคา
- พ.ย. ๒๕๖๗ วศ.อว. ร่วมมือ สถาบันสิ่งทอพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้า เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู้ไวรัส Covid-19
- พ.ย. ๒๕๖๗ สสว.ร่วมกับ สถาบันสิ่งทอ และ ม.อุบลฯ พัฒนา SMEs ผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานสู่โมเดริน์ไลฟ์สไตล์ เจาะตลาดภายใต้แนวคิด “คิด ผลิต ขาย” ตั้งเป้าสร้างยอดขาย 100 ล้านบาท