กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงยุติธรรม
อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นวิทยากรนำงานวิจัยที่ค้นคว้ามานับ 10 ปี ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตร หลักกระบวนการยุติธรรม รุ่น 3
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมพินิจฯ เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “องค์กรอาชญากรรม : ผลกระทบต่อสังคม และมาตรการป้องกันและปราบปรามที่มีประสิทธิภาพ” ในการอบรมหลักสูตร “หลักกระบวนการยุติธรรม” รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 8 พ.ย. 47 — 3 ธ.ค. 47 ณ ห้องรวยสุข บอลรูม โรงแรมมารวยการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามรูปแบบที่ควรจะเป็น สามารถปกป้องผู้กระทำผิดได้ และป้องกัน การกระทำผิด ป้องกันไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ถูกข่มเหงรังแกจากผู้มีอิทธิพลโดยไม่เป็นธรรม และไม่ให้ ถูกดำเนินคดีโดยความผิดพลาด จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นงานหนักทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะระบบกฎหมายของไทยค่อนข้างจะเป็นระบบที่ผิดเพี้ยน ความสำคัญของปัญหามี 2 ประการที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องดูแล ที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาประเทศ คือ 1. ปัญหาอาชญากรรมทั้งในประเทศและข้ามชาติ และ 2. ปัญหาทุจริตและคอรัปชั่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากแก้ปัญหา 2 เรื่องนี้ได้ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะจะได้ไม่ต้องพะวงกับช่องว่างของกฎหมาย ทั้งหลาย สมัยก่อนจะมีการถกเถียงกันมากว่า องค์กรอาชญากรรมคืออะไร ในอดีตไม่มีคำนิยามสากลว่า อะไรคือองค์กรอาชญากรรม แต่ละประเทศกำหนดความหมายต่างกันไป ปัจจุบันมีอนุสัญญา สหประชาชาติเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจนแล้ว กว่า 150 ประเทศ ที่ลงนามในอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ต้องไปศึกษาและกำหนดคำนิยามไว้ในกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งความหมายขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในอนุสัญญาฯคือ เป็นกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรง และเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทางการเงินหรือในทางทรัพย์สินอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรืออ้อม จะเห็นได้ว่าหากใช้คำนิยามนี้ จะพบว่าประเทศไทย มีองค์กรอาชญากรรมอยู่มากมายและกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งกิจกรรม
บางประการขององค์กรอาชญากรรม ได้แก่ กิจการผลิต การขนส่งและค้ายาเสพติด การรับจ้างฆ่าคน การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธสงคราม การฟอกเงิน การเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ฯลฯ
“ผลร้ายที่จะเกิดขึ้นก็คือ เป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทำลายความ เสียหายด้านเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม และส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ได้ผล จากการศึกษาถึงปัญหา และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยและความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรต้องเร่งดำเนินการต่าง ๆ อาทิ ต้องจัดทำกฎหมายเฉพาะในการป้องกันและปราบปรามองค์อาชญากรรมและให้กำหนดคำนิยามขององค์กรอาชญากรรมและสมาชิกองค์กรอาชญากรรมที่ชัดเจน ในกฎหมายดังกล่าวจะต้องกำหนดความผิดและลงโทษการเป็นสมาชิกฯหรือการเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมผิดกฎหมายขององค์กร อาชญากรรม ต้องกำหนดความผิดฐานทุจริตและการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพและเพิ่มโทษการกระทำทุจริตที่เกี่ยวพันกับองค์กรอาชญากรรม กำหนดความรับผิดชอบของนิติบุคคลและมาตรการในการป้องกันปรามปรามการใช้นิติบุคคลกระทำผิดโดยองค์กรอาชญากรรม ต้องพัฒนากฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้ทันสมัยและสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยเร็ว ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ เพื่อให้การดำเนินการในคดีอาญาไม่เป็นไปอย่างยุติธรรม ต้องสร้างมาตรการการคุ้มครองพยานและผู้เสียหายอย่างมี ประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายและพยานมีความมั่นใจในการให้ความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่รัฐในคดีที่มีการสืบสวน และให้แก้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดขององค์กรอาชญากรรมเพื่อใช้การปรับเป็นการลงโทษเพิ่มเติมจากการจำคุกและการประหารชีวิต ฯลฯ"--จบ--
- พ.ย. ๒๕๖๗ ศูนย์ ATCSW ได้รับเกียรติเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและวิทยากร ณ โรงแรม Avani+ Riverside Bangkok Hotel
- พ.ย. ๑๔๐๕ ภาพข่าว: สัมมนาเพื่อไม่ให้เด็กหวนไปกระทำผิดซ้ำ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปพม. ร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการตีความการค้ามนุษย์และแบบสัมภาษณ์เบื้องต้น สำหรับคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์