กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบัน คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ยังมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะกิจกรรมและนโยบายของพื้นที่ รวมทั้งมีข้อจำกัดในการกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการอย่างจริงจัง ดังนั้นการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของตนเองพร้อมกันในพื้นที่ทั้งจังหวัด จะทำให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
“แนวทางดังกล่าวนั้นเชื่อมโยงกับนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือกันในการดำเนินการด้านขยะมูลฝอยของเทศบาลต่างๆ ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุม และกำจัดมลภาวะในท้องถิ่นตนเอง รวมทั้งให้ประชาชนลดการทิ้งขยะอินทรีย์ลง โดยสนับสนุนให้นำไปใช้ประโยชน์ เช่น
แยกขยะขาย หรือทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการทำความเข้าใจกับประชาชนให้มีจิตสำนึก และมีความละอายในการทิ้งขยะ รวมทั้งดูแลไม่ให้มีผู้ทิ้งขยะที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะต้องทำให้เมืองไทยสะอาดได้มาตรฐานโลก ตามแนวคิดวันสิ่งแวดล้อมไทยในปี 2547 นี้ คือ Clean and Green Thailand” อธิบดีกล่าว
ดังนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินโครงการรณรงค์การจัดการครัวเรือนและโรงเรียนเพื่อลดขยะชุมชนขึ้น โดยจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อนำไปปฏิบัติในพื้นที่ ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์ลดและแยกขยะ และกิจกรรมรณรงค์การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์
“ในการดำเนินงานโครงการนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งจัดอบรมบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนด้านการลดขยะและแยกขยะของแต่ละองค์กรฯ แล้วนำเสนอให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำบันทึกข้อตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนที่จะดำเนินการตามแผนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งกำหนดไว้”สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่กรมฯ กำหนดไว้เพื่อดำเนินการ คือ ลุ่มน้ำปิงในเขต จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน, ลุ่มน้ำท่าจีนในเขต จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี จ.สมุทรสาคร, ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในเขต จ.สงขลา และจ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2548-2551 และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 68 ล้านบาท--จบ--
- ๒๓ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๓ พ.ย. ไทยหารือ ญี่ปุ่น - เยอรมนี - สิงคโปร์ ในห้วงการประชุม COP29 ยกระดับความร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเตือนภัยล่วงหน้า
- ๒๓ พ.ย. ดร.เฉลิมชัย เยี่ยมชม Thailand Pavilion ร่วมกิจกรรมคู่ขนาน COP29 พร้อมถ่ายรูปคู่ "น้องหมูเด้ง" ขวัญใจชาวโลก