กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนอย่าร่วมสร้างตำนานโศกนาฎกรรม ในคืนวันลอยกระทง หากจะเล่นพลุให้ระวังอันตราย แนะห้ามเล่นพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้เพลิง ปลอดภัยที่สุด
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงงานวันลอยกระทงของทุกปี มักมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกประทัด พลุ ดอกไม้ไฟระเบิดใส่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เด็กที่มีช่วงอายุประมาณ 10 —14 ปี มักได้รับอันตรายจากการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟมากที่สุด โดยมีสาเหตุจาก การเล่นอย่างไม่ถูกวิธี ขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง การเล่นอย่างผาดโผน การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรมป้องกันฯ มีความห่วงใยประชาชนจะได้รับอันตรายจากพลุ ดอกไม้ไฟ ในช่วงคืนงานวันลอยกระทง จึงขอให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลบุตรหลานที่เล่นดอกไม้ไฟอย่างใกล้ชิด ไม่จุดดอกไม้ไฟใส่ฝูงชน หรือโยนดอกไม้ไฟใส่กัน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อ ร่างกายได้ หากจะยืนดูพลุ ให้ยืนในระยะปลอดภัย คือ 10 เมตรขึ้นไป ไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้ว หากดอกไม้ไฟดับไปก่อนที่จะระเบิด ไม่ควรจุดซ้ำในทันที ควรทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วจึงจุดใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเตรียมน้ำไว้ใกล้ๆ ทุกครั้งที่เล่น เพื่อจะได้ดับไฟได้ทันหากเกิดเพลิงไหม้ โดยไม่ควรจุดพลุใกล้สายไฟ สถานีบริการน้ำมัน ถังเชื้อเพลิง หรือภายในอาคารบ้านเรือน เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ได้ ซึ่งนอกจากทำให้เกิดอันตรายแล้ว ยังถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย โดยมีโทษจำคุก 7 — 20 ปี ตามกฎหมายอาญา รวมทั้งห้ามนำพลุหรือดอกไม้ไฟเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ หรือกางเกง เพราะหากเกิดการระเบิด หรือได้รับความร้อน แสงแดดส่อง จะทำให้เกิดการเสียดสี จนเกิดเป็นประกายไฟ และเพลิงไหม้ได้
สุดท้ายนี้ กล่าวได้ว่า แนวทางการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากพลุและดอกไม้ไฟที่ดีที่สุด ได้แก่ การงดเว้นที่จะเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ เพราะนอกจากดอกไม้ไฟจะมีเสน่ห์แห่งความสวยงามแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยมหันตภัย อันร้ายแรงอีกด้วย ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้งานเฉลิมฉลองอันเริงรื่นในคืนวันลอยกระทง กลายเป็นตำนานหนึ่งใน โศกนาฎกรรมของไทย ควรงดเว้นการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
--จบ--