กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์ความแห้งแล้งถึงวันที่ 25 พ.ย. 2547 ว่า มีพื้นที่ประสบภัย 54 จังหวัด 524 อำเภอ 45 กิ่งอำเภอ 3,781 ตำบล 34,104 หมู่บ้าน แยกได้ ดังนี้ ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ส่งผลให้ราษฎรเดือดร้อน 6,669,420 คน 1,878,901 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 9,785,041 ไร่ ความเสียหายเบื้องต้น 4,899 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 12,297,482 ไร่ ความเสียหายเบื้องต้น 8,230 ล้านบาท ด้านการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันฯ ได้ร่วมกับจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ระดมสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 5,280,500 ไร่ และแจกจ่าย น้ำอุปโภค บริโภค 86,947,900 ลิตร โดยใช้งบประมาณช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินทดรองราชการ (งบ 50 ล้านของจังหวัด) 39,806,855 บาท งบฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 38,702,753 บาท และงบประมาณอื่นๆ 21,827,046 บาท
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะภัยแล้ง ที่คาดการณ์ว่าจะรุนแรงและต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2548 กรมป้องกันฯ ได้แจ้งให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน ณ วัด โรงเรียน และสถานที่เหมาะสม เพื่อบูรณาการการใช้น้ำร่วมกัน พร้อมเร่งสำรวจหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค โดยจัดลำดับหมู่บ้านที่มีความรุนแรงสูงสุด เพื่อประสานให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล และบ่อน้ำตื้นต่อไป ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการจัดสรรน้ำในระดับจังหวัด เพื่อควบคุมดูแลการจัดสรรน้ำ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ รวมถึงส่งเสริมอาชีพในระยะสั้น เพื่อสร้างรายได้แก่ผู้ประสบภัยแล้ง และเนื่องจากจากอิทธิพลจากพายุหมุ่ยฟ้า ทำให้มีฝนตกกระจายในทุกภาคของประเทศ นับเป็นผลดีต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งขาดแคลนน้ำอยู่ และ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงขึ้น กรมป้องกันฯ จะได้ประสานให้สำนักฝนหลวงฯ ปฏิบัติการทำ ฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อน เพื่อให้อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคลอง มีปริมาณน้ำเพิ่ม มากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้งในภาคเหนือและอีสานต่อไป--จบ--