กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มรดกทางวัฒนธรรมมีสภาพเสื่อมโทรมตามกาลเวลา และถูกลดคุณค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของคนในท้องถิ่นต่อมรดกทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมต่อตัวอาคารและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เป็นภาพสะท้อนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน เช่น ชุมชนเก่า เรือนแถวโบราณ บ้านโบราณฯ หรือที่เรียกว่า แหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ที่ไม่ใช่แค่เพียงโบราณสถานที่สำคัญ วัด วัง อันได้รับการดูแลจากกรมศิลปากรเท่านั้น
ซึ่งหนึ่งในมาตรการและเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนในท้องถิ่น ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมดังกล่าว ที่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ได้แก่ การจัดทำแผนที่ชุมชน
ซึ่งจะครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ลักษณะสภาพทางกายภาพปัจจุบัน สภาพความสำคัญ และปัญหาภัยคุกคามของพื้นที่ มาประกอบกับแผนที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงของชุมชน ในการร่วมกันดำเนินการกำหนดแผนงาน แนวทาง และทิศทางในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า จึงได้จัดทำโครงการผลิตแผนที่ชุมชน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมเมืองเก่าขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการอนุรักษ์ ดูแล
ปรับปรุงมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และองค์ประกอบสำคัญของเมืองเก่าอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งเพื่อสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์และพัฒนาเมือง คุณลักษณะเด่นอันสำคัญของศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม และองค์ประกอบเมืองที่สำคัญ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง อันสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหลักการกระจายอำนาจ
สำหรับการดำเนินการจัดทำแผนที่ชุมชนนั้นจะมีการศึกษา รวบรวม เรียบเรียงข้อมูลทุติยภูมิของชุมชนเมืองเก่าต่างๆ ในประเด็นเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์และการพัฒนาเมือง ลักษณะเด่นด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมชุมชน สภาพเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของเมืองเก่า ตลอดจนข้อมูลรายละเอียดโบราณสถาน อาคาร
แหล่งศิลปกรรมสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการสำรวจภาคสนามสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมโดยใช้แบบสำรวจเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
จากนั้นจะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาแปลงเป็นแผ่นภาพ กำหนดแนวทาง แผนงาน และปรับปรุง ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นชุมชน ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามผลการรับฟังความคิดเห็น แล้วจึงจัดทำเอกสารและจัดพิมพ์แผนที่ชุมชน เพื่อขยายผลงานสู่สาธารณะ ซึ่งในการจัดทำโครงการนี้ได้มีการกำหนดเมืองเก่านำร่องเพื่อเป็นต้นแบบขึ้น
โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า ได้เห็นชอบให้เมืองเก่าน่านเป็นเมืองต้นแบบการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และทาง สผ.จะได้มีการเปิดตัวโครงการแผนที่ชุมชนเมืองเก่าน่านขึ้น ในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ณ ข่วงเมืองน่าน จ.น่าน รวมทั้งจัดเสวนาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหัวหน้าชุมชน พ่อครู ผู้เฒ่าผู้แก่ และคณะทำงานฯ ซึ่งโครงการต้นแบบดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2548 จากนั้นสผ.จะได้วางเป้าหมายที่จะร่วมกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขยายโครงการสู่เมืองเก่าในจังหวัดอื่นๆ อาทิ ลพบุรี ลำปาง พิษณุโลก และตรัง เป็นต้น
“การจัดทำโครงการแผนที่ชุมชนนี้ ทาง สผ.คาดหวังว่าจะทำให้เมืองเก่าต่างๆ สามารถดำรงอัตลักษณ์ คุณลักษณะด้านประวัติสาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม อันจะส่งให้เกิดความสำคัญ บูรณภาพ และความเป็นของแท้ดั้งเดิมของพื้นที่เมืองเก่านั้น ๆ เอาไว้ รวมทั้งทำให้ชุมชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าอัตลักษณ์ และคุณลักษณะของมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นตนเอง ตลอดจนให้เมืองเก่าเหล่นั้นสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแหล่งหนึ่งของประเทศ” ผู้อำนวยการกอง กล่าว--จบ--