กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ปภ.
ปภ.ห่วงนักท่องเที่ยว รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำเตาไฟ ตะเกียง เข้าให้ความอบอุ่นในเต๊นท์ เป็นเหตุให้เกิดระเบิด เพลิงไหม้ ร่างกายขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงฤดูหนาวนี้ประชาชนส่วนมากนิยมไปท่องเที่ยวตามหุบเขา ป่าไม้ ยอดดอย และอุทยานแห่งชาติต่างๆ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น และมักนำเตาไฟ ตะเกียง เข้าไปผิงไฟในเต๊นท์ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในยามค่ำคืน หากเผลอหลับทั้งที่ยังจุดเตาไฟ และตะเกียงอยู่ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เนื่องจากเต๊นท์ส่วนใหญ่มักทำจากผ้าใบซึ่งเป็นวัสดุไวไฟ เมื่อติดไฟ ไฟจะลุกลามได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ เมื่อมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในสถานที่มิดชิด จะทำให้ออกซิเจน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการหายใจของมนุษย์หมดไป แต่จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้มากขึ้นมาแทน ซึ่งจะส่งผลกับการทำงานของสมอง ทำให้หายใจลำบาก ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองได้น้อยลงเรื่อยๆ จนสมองหยุดการทำงาน และเมื่อสมองหยุดการทำงาน ก็จะทำให้การทำงานของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายหยุดการทำงานไปด้วย และจะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วสมองของคนเราจะขาดออกซิเจนได้เฉลี่ยประมาณ 3 — 10 นาที ตามสภาพความแข็งแรงของร่างกาย ผู้ใหญ่ขาดอากาศได้นานกว่าเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเผลอหลับไป จะไม่รู้ตัวเลยว่าร่างกายขาดออกซิเจน จึงทำให้เสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงไม่ควรนำเตาไฟ หรือตะเกียง เข้าไปไว้ในสถานที่ปิดมิดชิดอย่างเด็ดขาด หากจะนำเตาไฟ หรือตะเกียงที่จุดแล้ว เข้าไปในเต๊นท์ ต้องมีช่องระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทได้เสมอ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือชาวบ้านอย่าเห็นแก่เงินเพียงเล็กน้อย นำตะเกียง เตาอั๊งโล่ หรือเตาที่ใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ บริการแก่นักท่องเที่ยว หวั่นเกิดเหตุไม่คาดคิด ทั้งระเบิด เพลิงไหม้ และขาดอากาศหายใจ จนก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้--จบ--