กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์
มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยขานรับสถานการณ์ผู้พิการที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้กว่า 6.1 ล้านคนทั่วประเทศ เปิดตัวโครงการผลิตหนังสือเสียงภายใต้ชื่อ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” รณรงค์เพียงหนึ่งคนหนึ่งเสียงช่วยเปิดโลกกว้างแก่เด็ก แถลงความสำเร็จในระยะแรกส่งมอบผลงานหนังสือเสียงสู่เด็กพิการกว่า 27,000 ชิ้น เผยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งทั้งจากสำนักพิมพ์และนักเขียนชื่อดัง อาทิ สรยุทธ สุทัศนะจินดา งามพรรณ เวชชาชีวะ ครูเคท-เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย ฐิติ แขมมณี อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เป็นต้น
นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิแอมเวย์ฯเป็นองค์กรการกุศลที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พนักงาน และนักธุรกิจแอมเวย์ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยให้ดีขึ้น ในปีนี้ได้ริเริ่มโครงการเพื่อเด็กพิการเพิ่มเติมอีกหนึ่งโครงการคือ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นโครงการผลิตหนังสือเสียงทั้งในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท ครบวงจร ตั้งแต่รับสมัครอาสาสมัคร จัดฝึกอบรมการอ่านหนังสือเสียงอย่างถูกต้อง จัดหาห้องอัดเสียงเพื่อให้อาสาสมัครอ่านบันทึกเสียง และดำเนินการตัดต่อให้เป็นหนังสือเสียงต้นฉบับที่มีคุณภาพสมบูรณ์ จากนั้นจึงสำเนาแจกไปยังหน่วยงานที่ดูแลผู้พิการที่มีความต้องการใช้หนังสือเสียงให้ทั่วถึงมากที่สุด
“เราเริ่มต้นจากการใช้จุดแข็งของธุรกิจแอมเวย์นั่นคือ เครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยรณรงค์ให้นักธุรกิจแอมเวย์สละเวลากันเพียงหนึ่งคนหนึ่งเสียงก็สามารถช่วยเปิดโลกกว้าง ให้ความรู้แก่เด็กพิการทางสายตาที่ด้อยโอกาสได้ นอกจากนั้น หนังสือเสียงเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ขยายไปถึงกลุ่มผู้พิการที่ไม่สามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์ได้ เช่น ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในระดับรุนแรงจนไม่สามารถหยิบจับหรือถือหนังสือได้ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสายตา ตลอดจนผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6.1 ล้านคนทั่วประเทศ มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กไทยรักการอ่าน โดยเติมเต็มโอกาสให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือตามปกติ ให้เขาได้เพิ่มพูนความรู้ ขยายโลกทัศน์และจินตนาการให้กว้างไกล เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป” นายปรีชากล่าว
นางอรอนงค์ ศิริรังคมานนท์ รองประธานมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีอาสาสมัครรุ่น 1 ที่เข้าอบรมวิธีอ่านหนังสือเสียงที่ถูกต้องรวม 364 คน โดยระยะแรกนี้ทำการบันทึกเสียงไปแล้ว 20 เรื่อง และจัดทำสำเนาหนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท รวมจำนวนทั้งสิ้น 27,000 ชิ้นงาน ซึ่งจะส่งมอบให้กับหน่วยงานบริการคนตาบอดทั่วประเทศรวม 6 หน่วยงาน ซึ่งมีเครือข่ายกว่า 100 แห่ง ภายในเดือนธันวาคมนี้ ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ, สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคน ตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา
นางอรอนงค์ กล่าวต่อไปว่า โครงการ One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง ระยะแรกทำการผลิตหนังสือเสียง 3 ประเภท ได้แก่ 1. หนังสือเสียงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยร่วมกับ มูลนิธิราชสุดาคัดเลือกอาสาสมัครส่วนหนึ่งเพื่อบันทึกเสียงและมูลนิธิราชสุดาดำเนินการผลิตต้นฉบับในระบบเดซี่ (DAISY) จากนั้นโครงการจะนำมาสำเนาแจกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.ผลิตหนังสือสาระบันเทิงทั่วไปที่ เหมาะสำหรับเด็ก โดยได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์และเจ้าของผลงานในเบื้องต้น 49 เล่ม จาก 5 สำนักพิมพ์ ได้แก่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), แพรวสำนักพิมพ์, สำนักพิมพ์มติชน, บริษัท กันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด และ บริษัท เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3.ผลิตหนังสือของผู้แต่งที่มีชื่อเสียง และสละเวลาอ่านหนังสือเสียงด้วยตนเอง ได้แก่ “กรรมกรข่าว” ของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา , “ความสุขของกะทิ” ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ , “ใครอยากไปเมืองนอก จะบอกให้” ของ เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย , “หักดิบ” ของ ฐิติ แขมมณี , “ต้มยำป้าจิ๊” ของ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์-สุวรรณ “นิทานแห่งความสุข” และ “ความฝันในอ้อมแขน” ของ นภพรรณ รักษิตานนท์ และ “เด็กหญิงสวนกาแฟ” ของ ฐปนี น้อยนาเวศ
“มูลนิธิแอมเวย์ฯ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่อาสาสมัครมาอ่านหนังสือเสียง ทุกสำนักพิมพ์ ท่านนักเขียนและท่านเจ้าของหนังสือทุกเล่ม ที่ให้เกียรติร่วมกับมูลนิธิฯ สร้างโครงการนี้ให้เป็นจริงและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในระยะแรกเริ่มเช่นนี้ เราเชื่อมั่นว่า ทุกเสียงทุกความพยายามได้แปรเป็นหนังสือเสียงที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่ ผู้พิการ ดังนั้น มูลนิธิแอมเวย์ฯจะดำเนินโครงการ One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวต่อไป” รองประธานมูลนิธิแอมเวย์ฯกล่าวในที่สุด
นายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา กล่าวในการเสวนา “หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ว่าการจัดบริการข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้พิการที่ไม่สามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศไทยนั้น จำนวนกว่าร้อยละ 90 ดำเนินการโดยองค์กรของคนตาบอดและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ในรูปของห้องสมุด หนังสืออักษรเบรลล์ หรือห้องสมุดหนังสือเสียง (Audio Library) และศูนย์บริการทางการศึกษาเพื่อคนพิการ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการทั้งทางด้านเงินทุน และรูปแบบการให้บริการที่ยังไม่สามารถกระจายไปได้ครอบคลุมทุกจุด มีเพียงกลุ่ม ผู้พิการจำนวนไม่กี่หมื่นคนที่มีโอกาสเข้าถึง ขณะที่ผู้พิการอีกกว่า 6.1 ล้านคน ต้องตกอยู่ในสภาพของการด้อยโอกาสด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันนำไปสู่สภาพความเสียเปรียบในการอยู่ร่วมกันกับคนปกติในสังคม
“การที่มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้ริเริ่มโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้พิการแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของผู้ด้อยโอกาสที่ยังรอความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก พร้อมกับช่วยกระตุ้นสังคมให้เห็นถึงสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน แนวคิดการกระตุ้นความร่วมมือหนึ่งคนหนึ่งเสียงแบบ One by One ของมูลนิธิแอมเวย์ฯ เป็นแนวทางที่ทำให้ขุมทรัพย์ทางปัญญานี้ขยายวงกว้างได้รวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการเรียนรู้ของผู้พิการ เพื่อให้มีโอกาสเฉกเช่นคนปกติในสังคมได้เป็นอย่างดี” นายกิติพงศ์กล่าวในที่สุด
อนึ่ง ผลงานหนังสือเสียงที่พร้อมมอบให้หน่วยงานเพื่อคนพิการในระยะแรกนี้รวมทั้งสิ้น 20 เรื่อง ได้แก่ เจ้าชายไม่วิเศษ, เมืองแก้ว, ความสุขของกะทิ, ความดี ความงาม ความสามารถ, ที่สุดของหัวใจ, ธรรมะหลับสบาย, เด็กหญิงนางฟ้า, นิทานแห่งความสุข, ปราสาทกระต่ายจันทร์, มองโลกง่ายๆสบายดี, มาโอการผจญภัยของแมว(ไม่)โง่ กับพ่อมดระดับ 71, มีดีบ้างไหม, ส้มสีม่วง, สมาธิไม่เลือกที่ และหนังสือพระราชนิพนธ์อีก 6 เรื่องได้แก่ ขบวนการนกกางเขน, แก้วจอมแก่น, แก้วจอมซน, ดั่งดวงแก้ว, ดุจดวงตะวัน และเล่าเรื่องเมืองฝรั่ง
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0 2691 6302-4 หรือ 0 2274 4782
(อุมา พลอยบุตร์, วีรยา หมื่นเหล็ก, วรรณวิสาข์ พรหมมา, อัญชลี เชื้อน้อย)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--
- ม.ค. ๒๕๖๘ แอมเวย์ รวมใจเป็นหนึ่ง เพื่อหัวใจคนไทย สมทบทุน 5 แสนบาท ให้แก่มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ม.ค. ๒๕๖๘ แอมเวย์ ร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรช่วยเหลือคนไทย มอบเงิน 1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
- ม.ค. ๒๕๖๘ แอมเวย์ มอบความห่วงใย ร่วมสมทบทุน 1 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์