ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับ บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) และบมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ ซื้อขายกลุ่มอุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม

พุธ ๑๕ ธันวาคม ๒๐๐๔ ๑๐:๕๑
กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับบมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์มโพลีเอสเตอร์ส่งออก และบมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ ผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟท์สำหรับอุตสาหกรรมหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ เข้าจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม เตรียมซื้อขาย 15 และ16 ธ.ค. นี้
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับหุ้นสามัญของบริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 800 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 560 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เข้าจดทะเบียนในกลุ่ม อุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โดยจะซื้อขายในวันที่ 15 ธ.ค. 2547 เป็นต้นไป ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “PTL”
PTL เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หุ้นละ 6.90 บาท ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.—1 ธ.ค. 2547 โดยจะนำเงินที่ได้ไปซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตแผ่นฟิล์มเคลือบอลูมิเนียม และอุปกรณ์ รวมทั้งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ส่วนบมจ. ยูไนเต็ด เปเปอร์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 650 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญเดิม 99.32 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 30.68 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท เข้าจดทะเบียนในกลุ่ม อุตสาหกรรมวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจเยื่อกระดาษและกระดาษ โดยจะซื้อขายในวันที่ 16 ธ.ค. 2547 เป็นต้นไป ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “UTP”
PTL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นฟิล์มเอสเตอร์ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โพลีเพล็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด จำกัด (PCL) ซึ่งจดทะเบียนใน Bombay Stock Exchange และ National Stock Exchange และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จากประเทศอินเดีย ในปี 2545 และ ปี 2546 PTL ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ PTL มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก PTL ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัท โพลีเพล็กซ์ (เอเชีย) พีทีอี ลิมิเต็ด ในสัดส่วนร้อยละ 53.5 และบริษัท โพลีเพล็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 16.50
ด้าน บมจ. ยูไนเต็ด เปเปอร์ หรือ UTP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 30.68 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 9.50 บาท ระหว่างวันที่ 1—3 ธ.ค. 2547 เพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และเพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ รวมทั้งชำระคืนเงินกู้ระยะยาว โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
UTP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟท์สำหรับอุตสาหกรรมหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในสัดส่วน 99 : 1 โดยกระดาษคราฟท์ที่บริษัทผลิตและจำหน่ายมี 2 ประเภทหลักคือ กระดาษคราฟท์สำหรับทำผิวกล่อง และกระดาษคราฟท์สำหรับทำลอนลูกฟูก ทั้งนี้ UTP มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 อันดับแรกของ UTP คือ 1) กลุ่มชินเศรษฐวงศ์ ในอัตราร้อยละ 29.71 2) กลุ่มมังกรกนก ในอัตราร้อยละ 12.11 และ 3) บริษัท มาร์เก็ตติ้งคอนซัลเท็น จำกัด ในอัตราร้อยละ 8.31 ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมของ บมจ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) และ บมจ. ยูไนเต็ด เปเปอร์ สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.polyplex.com และ www.unitedpaper.co.th รวมทั้งเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ www.set.or.th และเว็บไซต์ของบริษัทเซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ที่ www.settrade.com
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ