กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กร ตราสารหนี้ และตั๋วแลกเงินของ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ซึ่งสะท้อนการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ คุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่รับได้ รวมทั้งสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานกับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสำเร็จในการขยายสาขาไปยังภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อของบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเป็นการกระจายแหล่งรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากการเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในเครือของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และการเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มือสองของบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเดรดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้แม้ว่าต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นและสภาพการแข่งขันที่ยังคงความรุนแรงก็ตาม บริษัทจะสามารถคงสถานะทางการตลาดและดำรงสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ในระดับต่ำไว้ได้โดยอาศัยประสบการณ์ที่ยาวนานของคณะผู้บริหารและการมีขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อที่ระมัดระวัง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 สินเชื่อเช่าซื้อรวมของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งอยู่ที่ 32,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากสิ้นปี 2546 โดยบริษัทสามารถอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อใหม่เฉลี่ยที่ 1,750 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2547 ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 1,580 ล้านบาทต่อเดือน กำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปี 2547 อยู่ที่ 690 ล้านบาท มากกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 593 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลจากการแข่งขันที่รุนแรงทำให้บริษัทจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18.40% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 จาก 17.31% ในช่วงเดียวกันของปี 2546 อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถคงส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายไว้ที่ระดับ 4%-5% มาตั้งแต่ปี 2543 อัตราผลตอบแทนลดลงจาก 13.92% ในปี 2542 มาอยู่ที่ 11.89% ในปี 2544 เนื่องจากบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่ได้ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาประกอบกันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวที่ลดลง อัตราผลตอบแทนได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 10.57% ในปี 2545 ที่ 9.69% ในปี 2546 และ 8.93% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และหุ้นกู้ที่ออกในปี 2546 (SPL073A) และปี 2547 (SPL073B) มีอัตราดอกเบี้ย 3.20% และ 3.85% ตามลำดับ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทโดยเฉลี่ยลดลงจาก 5.37% ในปี 2545 เป็น 4.02% ในปี 2546 และ 3.67% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547
บริษัทมีการบริหารสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการอย่างระมัดระวังส่งผลให้มีระดับสินเชื่อที่หยุดรับรู้รายได้ในระดับต่ำคือ 1.96% ของสินเชื่อรวมเฉลี่ย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 สินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทซึ่งคิดเป็น 93% ของสินเชื่อรวมมีอัตราส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่หยุดรับรู้รายได้ต่อสินเชื่อเช่าซื้อรวมที่ระดับ 0.76% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 บริษัทมีสาขาในต่างจังหวัด 9 สาขาซึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ต่อสินเชื่อเช่าซื้อใหม่รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 51% ในปี 2545 มาอยู่ที่ 55% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 โดยสาขาเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันกับบริษัทเงินทุนและบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อขนาดใหญ่ในเครือของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีสาขาในต่างจังหวัดเช่นเดียวกันได้ บริษัทสามารถดำรงสถานะทางการตลาดโดยการกระจายแหล่งที่มาของรายได้นอกเหนือจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีระดับการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทมีแผนจะเปิดสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มอีกในปี 2548
สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2542 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 สินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 300% จากสิ้นปี 2542 ซึ่งมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น 198% ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2.64 เท่าในปี 2543 มาอยู่ที่ 5.68 เท่า ซึ่งเข้าใกล้สัดส่วน 8 เท่าตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิของการออกหุ้นกู้ บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการขยายสินเชื่อโดยการกู้ยืม ในช่วงแรก ผู้บริหารคาดว่าใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญชุดที่ 2 (SPL-W2) ของบริษัทจะมีการใช้สิทธิและสามารถเพิ่มฐานทุนของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวคาดว่าจะหมดอายุโดยไม่มีการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายเนื่องจากราคาหุ้นสามัญของบริษัทในปัจจุบันที่ 34 บาทต่อหุ้น (9 ธันวาคม 2547) ยังต่ำกว่าราคาใช้สิทธิที่ 35 บาทต่อหุ้น ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้ดีขึ้นอาจมาจากการเพิ่มทุนใหม่หรือจากการแปลงสินเชื่อปัจจุบันของบริษัทให้เป็นหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง” ที่ “A+” และคงอันดับหุ้นกู้มีการค้ำประกันที่ “AA” แนวโน้ม “Stable”
- ธ.ค. ๒๕๖๗ หุ้นกู้สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง 3,500 ล้านบาท ได้รับความสนใจอย่างท้วมท้น นักลงทุนสถาบันจองซื้อเกินมูลค่า กว่า 2.5 เท่า
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ทริสจัดอันดับเครดิตองค์กร สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง ระดับ "BBB"