กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน—มาร์สเตลเลอร์
ก้าวสู่ทิศทางใหม่
บทบาทของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ต่อเศรษฐกิจโลก
ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกจะมีความไม่แน่นอนกว่าที่เคยเป็นมา แต่ เลแมน บราเดอร์ส ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ในปีหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 2ประการ ได้แก่ เศรษฐกิจของจีนและราคาน้ำมัน ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส เชื่อว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีของจีนจะชะลอตัวลงและจะมีความสมดุลมากขึ้น โดยอัตราการลงทุนจะชะลอตัวลงและอัตราการบริโภคจะเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนมีการปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จีนจะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 8 ในปี 2548 ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงจะมีอัตราคงตัว ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มสูงขึ้นอีก ทำให้ เลแมน บราเดอร์ส มีมุมมองเชิงบวกต่อภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยประเมินว่า ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะก้าวเข้าสู่ทิศทางใหม่ในปี 2548 ซึ่งจะเป็นการฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤติในระดับภูมิภาคสำหรับทิศทางเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการขยายตัวของความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเปิดสัญญาณไฟเขียวแก่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียในการกระตุ้นค่าเงิน เพื่อช่วยให้อัตราจีดีพี เติบโตขึ้นตามการปรับตัวของความต้องการภายในประเทศ และภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่นี้ จะส่งผลให้ส่วนต่างของดุลบัญชีเดินสะพัดระยะสั้นในภูมิภาคลดลงอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ จากการดำเนินนโยบายที่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางในเอเชียดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายทางการเงินต่างๆ เข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก การแข็งค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยน
การขยายตัวของความต้องการภายในประเทศเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเชิงมหภาคที่ผ่อนคลายของ ภูมิภาค และมีอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นโดยเฉลี่ยสำหรับภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่ลดต่ำลงมาจนเกือบถึง ร้อยละ 0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา แต่ เลแมน บราเดอร์ส ยังคงเชื่อว่า เศรษฐกิจของ ภูมิภาคนี้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยโครงสร้างระยะยาวเชิงบวกอื่นๆ ซึ่งได้แก่ การเติบโตของชนชั้นกลาง การขยายตัวของสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว การมีจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มสูงขึ้น และการมีจำนวนคนหนุ่มสาวที่มีความต้องการกู้ยืมและใช้จ่ายมากขึ้น
สภาวะเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยลดความร้อนแรงลง เป็นผลจากภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นการระบาดของ ไข้หวัดนก และความไม่สงบในภาคใต้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความหวังที่เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ สดใสต่อไป หากผู้วางนโยบายมุ่งให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างของภาค การเงินและภาคธุรกิจอย่างจริงจัง
แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเฉพาะเจาะจงเพื่อรักษา ความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ไม่สามารถหยุดอยู่แค่จุดนี้ได้ ยังคงต้องมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียคาดว่าจะมีทิศทางการเติบโตที่สดใส เนื่องจากมาเลเซียมีผู้นำที่เข้มแข็ง ทั้งยังมีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง โดยมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ตลอดจนมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีค่าเงินที่อ่อนตัวที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้
ความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซียมีการผ่อนคลายลงหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีความคืบหน้าอย่างมากในการดำเนินนโยบายการคลัง และมีสัดส่วนหนี้ ต่างประเทศต่ออัตราจีดีพีลดลง ปัญหาสำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย คือ การเสื่อมสภาพของระบบและอุปกรณ์ การผลิต เนื่องจากไม่มีการลงทุนใหม่ๆ นับตั้งแต่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดียุโดโยโนมุ่งมั่นสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้อินโดนีเซียสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายให้บังเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้สูงสุด
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ มีปัจจัยพื้นฐานที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากฟิลิปปินส์ประสบการขาดดุล งบประมาณในระดับสูง ทั้งยังมีหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินสำรองรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และสภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งมีอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงและค่าเงินเปโซที่อ่อนตัวอย่างมาก
สภาวะเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
จีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดและรัดกุมบวกกับการมีส่วนต่างกำไรที่ลดลง ตลอดจนการมีอุปทานที่ไม่พอเพียงและการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวลงดังกล่าวจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนเสริม การเติบโตของอัตราจีดีพีให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การบริโภคและการส่งออกที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยปกป้องอัตราจีดีพี มิให้ได้รับผลกระทบจากการลงทุนที่มากเกินไปในหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เลแมน บราเดอร์ส ได้ปรับลด การประมาณการของการดิ่งตัวของเศรษฐกิจจีนจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 20 และจากการที่จีนเริ่มประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและสภาวะเศรษฐกิจของจีนมีการปรับตัวให้มีความสมดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า จีนจะยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกในปีหน้าแทนนโยบายการบริหารจัดการทางการเงินที่เข้มงวด สำหรับการประเมินเกี่ยวกับค่าเงินเรนมินบิ พบว่า จีนมีความจำเป็นที่จะสร้างอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเพื่อสร้างความสมดุลที่ดีขึ้นให้กับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในจีนทั้งยังจะช่วยให้จีนมีอำนาจในการควบคุมนโยบายการเงินของประเทศได้อีกครั้ง ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มขึ้นภายในรายไตรมาสมากกว่าในรายปี โดยจะส่งผลให้ค่าเงิน เรนมินบิของจีนแข็งตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับเศรษฐกิจของฮ่องกงมีการฟื้นตัวจากสภาวะเงินฝืด โดยมีทิศทางการเติบโตที่สดใส เนื่องจากค่าเงิน ดอลลาร์ฮ่องกงผันแปรตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกงยังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างของจีน
สำหรับการเติบโตที่สดใสของอัตราจีดีพีในเกาหลีใต้โดยรวมในปีนี้เป็นผลจากการส่งออก ขณะที่ความต้องการภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นและราคาต้นทุนด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เลแมน บราเดอร์ส ไม่เชื่อว่า เกาหลีจะตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เนื่องจากรายได้ส่วนบุคคลของเกาหลีเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณเงินออมทวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ครัวเรือนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเงิน และหันมาใช้จ่ายอีกครั้ง โดย เลแมน บราเดอร์ส ยังลังเลที่จะคาดการณ์ว่า สภาวะเศรษฐกิจที่อึมครึมในปัจจุบันจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลียังอยู่ในเกณฑ์ดี และนโยบายเชิงมหภาคระดับประเทศยังเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น
สำหรับไต้หวันนั้น ภาคการส่งออกมีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และการส่งออกของจีนมีความแข็งแกร่งและมั่นคง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดต่ำลงเกือบถึงระดับติดลบ จึงกระตุ้นธุรกิจสินเชื่อสำหรับผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประการของไต้หวัน คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทเปและรัฐบาลปักกิ่ง และการขยายตัวของสภาพคล่องที่ไร้การควบคุม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
อาซิแอม เบอร์สัน—มาร์สเตลเลอร์
วราพร สมบูรณ์วรรณะ / สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
โทร 0 2252 9871--จบ--