กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากผู้ขับรถเกิดอาการหลับใน จึงขอเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เนื่องจากผลการศึกษา พบว่า การอดนอนมีผลต่อการขับรถเหมือนกับการดื่มแอลกอฮอล์ที่ระดับ 50 มก.เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจึงแตะเบรก หรือหักรถหลบหนีได้ช้ากว่าปกติ และยิ่งถ้าหากคนขับหลับในจะไม่สามารถ ควบคุมการขับรถได้เลย โดยพบบ่อยๆ เช่น การขับรถเกยขึ้นข้างทาง การขับรถชนเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้ข้างทาง การขับข้ามเลนไปชนรถคันอื่น และถ้าหากคนที่อดนอนดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ระดับแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่มีผลต่อการขับรถมากกว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผู้ที่รู้ตัวว่าง่วงจึงไม่ควรฝืนที่จะขับรถต่อ เพราะจะก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะ ดังกล่าว ขอให้ผู้ขับรถปฏิบัติตน ดังนี้ หลีกเลี่ยงการขับรถหลังจากกินยานอนหลับ ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ ส่วนคนอดนอนที่ต้องขับรถทางไกล ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะความง่วงบวกกับแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการหลับในระหว่างขับรถ ส่วนคนที่มีประวัติง่วงนอนง่าย นอนกรน ไม่ควรขับรถโดยลำพัง ถ้านั่งรถไปด้วยกันหลายคน ควรสลับกันขับรถ หรือชวนคนขับคุย อย่าปล่อยให้คนง่วงขับรถ เพราะอาจเกิดการหลับในได้ หากรู้ตัวว่าง่วงต้องจอดแวะข้างทาง และพักหลับประมาณ 10 — 15 นาที แล้วจึงขับต่อ หรือดื่มกาแฟ 1 — 2 แก้ว แต่ถ้าไม่สามารถจอดแวะข้างทางได้ ควรจับจุดในร่างกายที่ทำให้ตาสว่าง เช่น จุดหลังศีรษะ ใต้จมูก หรือการใช้ปลายเล็บของนิ้วโป้งจิกลงบนจมูกเล็บของนิ้วก้อยของมือข้างเดียวกัน หรือการบีบหัวนมตัวเองแรงๆ เพื่อทำให้ตัวเองเจ็บ โดยไม่เกิดอาการฟกช้ำดำเขียวต่อร่างกาย ก็จะช่วยให้เกิดอาการตื่นขึ้นได้ชั่วครู่ แต่ถ้ามีจังหวะและโอกาส ควรแวะจอดหลับในที่ที่ปลอดภัย หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากความง่วง และลดความเสี่ยงและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์ของตนเอง และเพื่อนร่วมทาง--จบ--