มูลนิธิแอมเวย์ฯ จุดกระแสสังคม เปิดตัว “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง”

ศุกร์ ๒๔ ธันวาคม ๒๐๐๔ ๑๑:๕๖
กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์
มูลนิธิแอมเวย์ฯ จุดกระแสสังคม เปิดตัว “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ผนึกเครือข่ายนักธุรกิจแอมเวย์ นักเขียนชื่อดัง รณรงค์หนึ่งคนหนึ่งเสียงช่วยเด็กพิการ
หนังสือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ช่วยเปิดโอกาสทางสังคมให้กับมวลมนุษย์ชาติ หากทว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ ไม่สามารถเข้าถึงขุมทรัพย์นี้ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและ คนอื่นๆ ในสังคมห่างหายและเลือนรางเสมือนอยู่คนละโลก ยิ่งเมื่อสังคมก้าวสู่ยุคข้อมูลข่าวสารมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้รอยเชื่อมแห่งความสัมพันธ์แยกห่างกันขึ้นทุกขณะ ..…
สังคมไทยไม่เคยทอดทิ้งกันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้จริงแท้แน่นอน เมื่อภาคเอกชนอย่างมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย ออกมาขานรับสถานการณ์ ยกมืออาสาเชื่อมความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยริเริ่มโครงการผลิตหนังสือเสียง เพื่อผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ภายใต้ชื่อ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นการนำจุดแข็งที่มีอยู่ในภาคธุรกิจมาตอบแทนแผ่นดินไทย โดยการต่อยอดจากโครงการ One by One ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมที่แอมเวย์คอร์ปอเรชั่นได้ริเริ่มเพื่อเป็นแนวทางให้แอมเวย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และได้จัดงานเปิดตัวโครงการฯ แถลงความสำเร็จในระยะแรก ส่งมอบผลงานหนังสือเสียงสู่เด็กพิการกว่า 27,000 ชิ้น โดยมีนักเขียนชื่อดังที่อ่านหนังสือเสียงด้วยตัวเอง อาทิ งามพรรณ เวชชาชีวะ, ครูเคท-เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย และฐิติ แขมมณี รวมทั้งเหล่านักเขียนที่อนุญาตให้นำผลงานมาอ่านเป็นหนังสือเสียง อาทิ จุลินทร์ ศรีสะอาด, ประสาร มฤคพิทักษ์, โดม วุฒิชัย, วิชัย โรจนสุนันท์, ฐปณี น้อยนาเวศ, สังคีต จันทนะโพธิ, ชนกพร จันทวิบูลย์, พัณณิดา ภูมิวัฒน์ ต่างมาร่วมเป็นแรงใจในงานกันอย่างคับคั่ง
นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิแอมเวย์ฯ เป็นองค์กรการกุศลที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พนักงาน และนักธุรกิจแอมเวย์ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยให้ดีขึ้น ในปีนี้ได้ริเริ่มโครงการเพื่อ เด็กพิการเพิ่มเติมอีกหนึ่งโครงการคือ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นโครงการผลิตหนังสือเสียง ทั้งในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท ครบวงจร ตั้งแต่รับสมัครอาสาสมัคร จัดฝึกอบรมการอ่านหนังสือเสียงอย่าง ถูกต้อง จัดหาห้องอัดเสียงเพื่อให้อาสาสมัครอ่านบันทึกเสียง และดำเนินการตัดต่อให้เป็นหนังสือเสียงต้นฉบับที่มีคุณภาพสมบูรณ์ จากนั้นจึงสำเนาแจกไปยังหน่วยงานที่ดูแลผู้พิการที่มีความต้องการใช้หนังสือเสียงให้ทั่วถึงมากที่สุด
“เราเริ่มต้นจากการใช้จุดแข็งของธุรกิจแอมเวย์นั่นคือเครือข่ายที่เข้มแข็งโดยรณรงค์ให้นักธุรกิจแอมเวย์ สละเวลากันเพียงหนึ่งคนหนึ่งเสียงก็สามารถช่วยเปิดโลกกว้างให้ความรู้แก่เด็กพิการทางสายตาที่ด้อยโอกาสได้ นอกจากนั้น หนังสือเสียงเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ขยายไปถึงกลุ่มผู้พิการที่ไม่สามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์ได้ เช่น ผู้พิการ ทางการเคลื่อนไหวในระดับรุนแรงจนไม่สามารถหยิบจับหรือถือหนังสือได้ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสายตา ตลอดจน ผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6.1 ล้านคนทั่วประเทศ มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กไทยรักการอ่าน โดยเติมเต็มโอกาสให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือตามปกติ ให้เขาได้เพิ่มพูนความรู้ ขยายโลกทัศน์และจินตนาการให้กว้างไกล เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป”
ด้านนักธุรกิจแอมเวย์อาสาสมัครที่เข้ารับการอบรมและอ่านหนังสือเสียงในครั้งนี้ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันเป็นการทำงานด้วยใจ เพราะการอ่านหนังสือเสียงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ก็เหมือนกับการเขียนหนังสือที่จะต้องมีทักษะ ความรู้ความเข้าใจในการที่จะถ่ายทอด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อให้เนื้อหาสาระและอารมณ์ของเรื่องราวนั้นๆ ถึงผู้รับอย่างครบถ้วน ไม่ว่าผู้รับจะเป็นผู้พิการทางสายตาหรือคนปกติก็ตาม”
ขณะที่ เมตตา สอนไพศาล นักธุกิจแอมเวย์ ซึ่งมีดีกรีรับประกันเป็นรางวัลชนะเลิศอ่านนิทานประกวดประเภทครอบครัว โดยได้รับพระราชทานถ้วยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้มุมมอง ที่สวยงามในการอ่านหนังสือเสียงครั้งนี้ว่า “ได้รับคัดเลือกให้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องดั่งดวงแก้วค่ะ รู้สึกปลื้มปิติอย่างมาก เพราะตั้งแต่วันแรกที่มีการอบรมจาก 300 กว่าคน จนมาถึงรอบ 50 คน และคัดเหลือเพียง 8 คน ไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะอยู่ถึงรอบสุดท้าย และได้อ่านหนังสือเสียงพระราชนิพนธ์ คงเป็นเพราะความตั้งมั่นอย่างสูงว่าจะทำความดีตอบแทนสังคม แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พอดีมูลนิธิแอมเวย์ฯ จัดโครงการนี้ขึ้น ก็บอกกับตัวเองว่านี่แหละใช่เลย แล้วก็มุ่งมั่นตั้งแต่กรอกใบสมัครเลยว่าจะต้องอ่านหนังสือเสียงให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือทั่วไป หรือ ถ้าโชคดี ก็คงได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์” ด้าน วาสนา เจริญศักดิกุล นักธุรกิจแอมเวย์ระดับเข็มเงิน อีกหนึ่งเสียงที่เกิดจากเครือข่ายของแอมเวย์ เล่าว่า “ได้รับคัดเลือกให้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องแก้วจอมซนค่ะ ซึ่งต้องบันทึกเสียงในระบบเดซี่ เป็นการบีบอัดเสียงในอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากการบันทึกเสียงทั่วไป ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่หน้าแรกของโปรแกรม แต่มีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิราชสุดาฯ ซึ่งเป็นต้นแบบในการทำโครงการฯ คอยสอน คอยบอก ต้องมีความตั้งใจสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียง เรื่องอักขระ และการอ่านให้ได้อารมณ์ตามเนื้อหา”
ช่วงแห่งความสนุกสนานสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ร่วมงานคือช่วงที่เหล่านักเขียนในดวงใจขึ้นเสวนาในหัวข้อ “หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของผลงาน“ความสุขของกะทิ”, ครูเคท-เนตรปรียา มุสิกไชย ชุมไชโย เจ้าของผลงาน “ใครอยากไปเมืองนอก จะบอกให้”, ฐิติ แขมมณี เจ้าของผลงาน “หักดิบ” ที่กล่าวในการเสวนาแบบถ่อมตัวว่า “ทราบว่าหนังสือเป็นที่ต้องการของผู้อ่าน ก็เป็นปลื้มแล้ว ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง ที่จะอ่านหนังสือของตัวเอง เพื่อน้องๆ ที่น่ารักเหล่านี้ และเชื่อมั่นว่า ทุกเสียง ทุกความพยายาม ได้แปรเป็นหนังสือเสียงที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งยวดแก่ผู้พิการ ดังนั้น ขอให้มูลนิธิแอมเวย์ฯ ดำเนินโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวต่อไป”
ด้าน นายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่ขึ้นมาพูดคุยในฐานะตัวแทนของผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ กล่าวว่า การจัดบริการข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้พิการที่ไม่สามารถใช้สื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศไทยนั้น จำนวนกว่าร้อยละ 90 ดำเนินการโดยองค์กรของคนตาบอดและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ในรูปของห้องสมุด หนังสืออักษรเบรลล์ หรือห้องสมุดหนังสือเสียง (Audio Library) และศูนย์บริการทางการศึกษาเพื่อคนพิการ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการทั้งทางด้านเงินทุน และรูปแบบการให้บริการที่ยังไม่สามารถกระจายไปได้ครอบคลุมทุกจุด มีเพียงกลุ่มผู้พิการจำนวนไม่กี่หมื่นคนที่มีโอกาสเข้าถึง ขณะที่ผู้พิการอีกกว่า 6.1 ล้านคน ต้องตกอยู่ในสภาพของการด้อยโอกาสด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันนำไปสู่สภาพความเสียเปรียบในการอยู่ร่วมกันกับคนปกติในสังคม
“การที่มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้ริเริ่มโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้พิการแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้สังคมมองเห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของผู้ด้อยโอกาส ที่ยังรอความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก พร้อมกับช่วยกระตุ้นสังคมให้เห็นถึงสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน แนวคิดการกระตุ้นความร่วมมือหนึ่งคนหนึ่งเสียงแบบ One by One ของมูลนิธิแอมเวย์ฯ เป็นแนวทางที่ทำให้ ขุมทรัพย์ทางปัญญานี้ขยายวงกว้างได้รวดเร็วและเพียงพอต่อความต้องการเรียนรู้ของผู้พิการ เพื่อให้มีโอกาสเฉกเช่นคนปกติในสังคมได้เป็นอย่างดี” นายกิติพงศ์กล่าวในที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0 2691 6302-4 หรือ 0 2274 4782
(อุมา พลอยบุตร์, วีรยา หมื่นเหล็ก, วรรณวิสาข์ พรหมมา, อัญชลี เชื้อน้อย)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version