กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ปตท.
นายมารุต มฤคทัต (Mr.Maroot Mrigadat) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งประมาณการเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย (Capital Expenditure & Operating Expenditure) ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2548 - 2552 ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 133,800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยแต่ละปีจะมีเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550 ปี 2551 ปี 2552
เงินลงทุน (Capital Expenditure) 25,300 26,100 13,200 11,100 9,100
ค่าใช้จ่าย (Operating Expenditure)11,200 8,700 8,900 10,200 10,000
36,500 34,800 22,100 21,300 19,100
แผนการดำเนินงาน 5 ปี จำนวน 133,800 ล้านบาทดังกล่าวนั้น ปตท.สผ.ได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลัก ๆ ของ ปตท.สผ. ดังนี้
- ร้อยละ 40 หรือประมาณ 53,520 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการหลักที่อยู่ระหว่างการผลิตและเริ่มการผลิต ได้แก่ โครงการบงกช โครงการไพลิน โครงการยาดานา โครงการเยตากุน โครงการ S1 โครงการนางนวล
- ร้อยละ 41 หรือประมาณ 54,858 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการที่คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในอนาคต ได้แก่ โครงการอาทิตย์ โครงการพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย
- ร้อยละ 19 หรือประมาณ 25,422 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ ได้แก่ โครงการโอมาน 44 โครงการพม่า M7 & M9 โครงการเวียดนาม 9-2 โครงการเวียดนาม 16-1 และโครงการ อัลจีเรีย 433a & 416b
“ปตท.สผ.ได้เร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับแรก โดยได้ปรับแผนกลยุทธ์และแผนการลงทุน เพื่อเพิ่มการผลิตและการพัฒนาในหลาย ๆ โครงการ เพื่อให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากแผนดังกล่าว ปตท.สผ. คาดว่า ในปี 2548 จะสามารถเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียมได้ในอัตราประมาณ 143,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมในปี 2547 ผลิตได้ในอัตราประมาณ 134,000 บาร์เรลต่อวัน” นายมารุตกล่าว
การเพิ่มอัตราการผลิตในปี 2548 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในโครงการ S1 หรือแหล่งสิริกิติ์ โดยเพิ่มจาก 17,800 บาร์เรลต่อวัน เป็น 20,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งในเดือนมกราคมที่จะ ถึงนี้ ปตท.สผ.จะเริ่มทดลองผลิตน้ำมันดิบจากโครงการนางนวลในอัตราประมาณ 5,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับการแผนการผลิตก๊าซฯของโครงการเยตากุนจะเพิ่มขึ้นจาก 300 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันในไตรมาส 3 ของปี 2547 เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในไตรมาส 3 ของปี 2548
สำหรับความก้าวหน้าในโครงการอาทิตย์ ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้เริ่มการคัดเลือกผู้รับเหมา เพื่อก่อสร้างแท่นผลิต ซึ่งตามแผนงานจะดำเนินการก่อสร้างแท่นผลิต (Production Platform) 1 แท่น แท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) 6 แท่น และจะเจาะหลุมพัฒนาจำนวน 20 หลุมในปี 2548 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในครึ่งปีแรกของปี 2550 ด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้เร่งการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในแปลง B-17 และ B-17-01 ในพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย รวมทั้งแหล่ง Shams ในโครงการโอมาน 44 ด้วย ซึ่งคาดว่าจะ ลงนามได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2548 นี้” นายมารุตกล่าวเพิ่มเติม
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อฝ่ายกิจการสัมพันธ์
สิทธิไชย ไชยันต์/ ต้องจิตร วัฒนาเมธี
โทร. 02 537 4000--จบ--
- พ.ย. ๐๕๙๘ ภาพข่าว: เชฟรอน ปตท. สผ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมแสดงความยินดีกับนิสิต หลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ปตท. สผ. ฉลองความสำเร็จจำหน่ายหุ้นกู้ 40,000 ล้านบาท
- พ.ย. ๖๐๔๐ ภาพข่าว: ปตท.สผ. สนับสนุนมูลนิธิกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติฯ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ และสร้างฝายต้นน้ำ