กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2548 นี้ ได้มีการวางแผนที่จะดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศถึง 13 โครงการด้วยกัน เพื่อรองรับการพัฒนาในตลาดทุน ซึ่งจะเป็น Integrated Market ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์
“การพัฒนาของตลาดทุนไทยที่จะมีความหลากหลายของตราสารและเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ในอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วางแผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับงานสำคัญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการในปี 2548 แบ่งเป็นโครงการใหม่จำนวน 7 โครงการ และการปรับปรุงโครงการเดิมให้มีประสิทธิจำนวน 6 โครงการ” นายชัยยุทธ์กล่าว
สำหรับโครงการใหม่ 7 โครงการ จะเน้นไปที่ระบบงานซื้อขายและระบบชำระราคาของตลาดตราสารอนุพันธ์ ระบบงานสนับสนุนตลาดตราสารหนี้ ระบบงานกำกับการซื้อขายที่รองรับทั้ง 3 ตลาด การรวมศูนย์ชำระราคา ธุรกิจการยืมหลักทรัพย์ และตลาดซื้อคืนพันธบัตรและตราสารหนี้ ระบบเชื่อมต่อสำหรับการชำระราคาเพื่อรองรับ Real-Time Gross Settlement และระบบงานการให้บริการ One-Stop Service ตลอดจนการจัดเตรียมระบบสำรองในการส่งคำสั่งซื้อขายให้แก่บริษัทสมาชิกในกรณีที่ระบบของบริษัทสมาชิกขัดข้อง
นายชัยยุทธ์กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจสำคัญคือ ระบบงานสำหรับตลาดอนุพันธ์ ซึ่งจะเปิดให้มีการซื้อขายในปี 2548 โดยจะมีการพัฒนาทั้งระบบงานการส่งคำสั่งซื้อขาย ระบบงานซื้อขาย ระบบงานชำระราคาและส่งมอบ และระบบงานปฏิบัติการหลังการซื้อขาย
สำหรับธุรกิจการยืมหลักทรัพย์ เป็นบริการที่ให้แก่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านธุรกิจการยืมหลักทรัพย์ ทั้งด้านระบบซื้อขาย ระบบบริหารความเสี่ยง และระบบหลังการซื้อขาย เพื่อให้บริการแก่บริษัทสมาชิกที่ไม่ต้องการลงทุนเอง เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการยืมหลักทรัพย์มีปริมาณมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ทุกโครงการได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2547 และจะแล้วเสร็จในปี 2548”
นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนให้บริการ One-Stop Service ที่จะเปิดให้บริการในปี 2548 สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการติดต่องานเกี่ยวกับงานทะเบียนหลักทรัพย์ การรับฝากหลักทรัพย์ รวมทั้ง งานอื่น ๆ ที่ให้บริการโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทย่อย ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็วมากขึ้น เมื่อมาใช้บริการที่จุดดังกล่าว
สำหรับการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานและโครงสร้างพื้นฐานอีก 6 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบจับคู่คำสั่งใหม่ และการจัดหาพัฒนาระบบปฏิบัติการหลังการซื้อขาย ซึ่งให้บริการครอบคลุมทั้งตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ (Integrated Market) นอกจากนี้ยังมีระบบการรับคำสั่งซื้อขายหลายช่องทาง ระบบงานศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ การปรับปรุงช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลการซื้อขาย รวมทั้งโครงการจัดทำระบบศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ เป็นต้น
“โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน ลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทสมาชิก และเพิ่มคุณภาพการบริการและเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสำหรับผู้ใช้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สูงขึ้น ดังนั้น โครงการในปี 2548 ทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับความสะดวก และได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทสมาชิก บริษัทจดทะเบียน บริษัทจัดการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อม และเพื่อให้การพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” รองผู้จัดการ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าว
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งโดยการพัฒนาระบบเองโดยบุคลากรภายใน ในขณะที่บางโครงการเป็นการจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์ที่มีมาตรฐานสากลที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี และมีมาตรการควบคุมความเสี่ยงของโครงการมาโดยตลอด ทั้งนี้ ระบบงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการประเมินจากบริษัทผู้ให้บริการระบบ ซื้อขายหลักทรัพย์ระดับสากล ที่ระดับ A เมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเกือบ 20 แห่งทั่วโลก
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049--จบ--