กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ปตท.
นักวิชาการด้าน วนศาสตร์ ชี้เป็นแผนงานที่สามารถปฏิบัติได้ และเป็นโครงการแรกทางด้านพัฒนาที่มีการล้อมต้นไม้ ปตท. มั่นใจแผนงานก่อสร้าง สอดคล้องกับมาตรการลดผลกระทบ ซึ่งจะควบคุมให้มีผลกระทบทั้งต่อ ชุมนุมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยในส่วนพื้นที่ป่าที่จะได้รับผลกระทบชั่วคราวประมาณ 600 กว่าไร่นั้น ปตท. จะเร่งฟื้นฟูโดยเร็ว
นายสุวนันท์ ชาติอุดมพันธ์ รองผู้จัดการใหญ่วางแผน ปตท.ก๊าซธรรมชาติ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่อส่งก๊าซฯ ไทย-พม่า ครั้งที่ 6/2540 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายขวัญชัย วศวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานได้อนุมัติแผนปฏิบัติการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ในฟื้นที่ป่า ช่วงแนวท่อที่ KP 00- 50 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการลดผลกระทบ แผนการนำไม้ออก และ แผนก่อสร้างรายละเอียด โดยมีการระบุถึงผลกระทบด้านต่างๆ ที่ชัดเจน อาทิ ผลกระทบต่อชุมชนมีอะไรบ้าง ผลกระทบต่อป่าไม้มีอะไรบ้าง ผลกระทบต่อสัตว์ป่ามีอะไรบ้าง ฯลฯ
สำหรับแผนงานก่อสร้างในพื้นที่ป่านั้น นอกจากมีการระบุถึงประเด็นสำคัญในเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง เช่น การกรุยทาง การเชื่อมท่อ การวางท่อผ่านร่องน้ำ ในพื้นที่แต่ละช่วงแล้ว ยังมีแผนปฏิบัติการขนส่งที่ระบุถึงวิธีการ และการควบคุมอย่างละเอียด โดยในส่วนของเส้นทางขนส่งเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ จะไม่มีการเปิดเส้นทางใหม่ จะใช้เส้นเดิม แลใช้เขตก่อสร้างของแนวท่อซึ่งในพื้นที่ป่าจะใช้ความกว้าง 20 เมตร ยกเว้นช่วงเขาทิปือ บริเวณแนวท่อ KP 20-26 ซึ่งเป็นช่วงป่าสมบูรณ์ 6 กม. จะลดพื้นที่ก่อสร้างลงเหลือ 12 เมตร โดยในช่วงนี้จะใช้เทคนิคพิเศษ Cable Carne เป็นต้น
นายสุวนันท์ ชี้แจงว่า ปตท. ขอยืนยันในความตั้งใจจริง ที่จะทำให้โครงการนี้ เป็นโครงการที่พิสูจน์ว่า การพัฒนา สามารถทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้ พื้นที่ป่ารวมจำนวน 600 กว่าไร่ ที่จะได้รับผลกระทบชั่วคราว ปตท. จะดูแลและเร่งฟื้นฟูให้มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิม เพื่อให้ประเทศมีพลังงานสะอาดใช้ พร้อมกับมีความมั่นคงด้านพลังงานด้วย ซึ่ง ปตท. ใคร่ขอร้องให้กลุ่มที่ห่วงใยทั้งหลายทำใจเป็นกลาง และหันมาดูเรื่องข้อมูลในส่วนของโครงการแล้ว จะเห็นว่าโครงการนี้มิได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลแต่อย่างใด
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เลิศ จันทภาพ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้ ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการ "ล้อม" หรือ "ย้าย" ต้นไม้ที่มีคุณค่าที่อยู่ในแนวท่อในพื้นที่ป่าใด ให้ความเห็นว่า แผนและมาตรการลดผลกระทบที่ ปตท. นำเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ เป็นแผนที่น่าจะปฏิบัติให้เกิดผลได้ทั้งสิ้น เพราะมีการระบุถึงผลกระทบด้านต่างๆ อย่างชัดเจนพร้อมกำหนดมาตรการเสริม และแผนก่อสร้างที่จะลดผลกระทบ อย่างละเอียด รวมถึงการจัดทำแผนการล้อมต้นไม้ (ย้ายมาปลูกที่ใหม่) ซึ่งนับเป็นโครงการพัฒนาโครงการแรกที่คิดทำแบบนี้ โดยในหลักการ จะล้อมเฉพาะต้นไม้ที่มีคุณค่า และหายาก อาทิ ไม้ยืนต้นที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร เป็นต้น และเมื่อฝังกลบแล้วก็จะพิจารณานำกลับมาปลูกในที่เดิม หรือจัดหาที่ที่เหมาะสมในจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นที่ปลูกไม้หายากนั้นต่อไป--จบ