กรุงเทพ--29 พ.ค.--บรรษัทเงินทุนฯ
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อนุมัติเงินกู้ระยะยาว แก่บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 537.6 ล้านบาท โดยเงินกู้จำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากการที่บรรษัทได้รับเงินกู้จาก The Export - Import Bank Of Japan เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นายอโนทัย เตชะมนตรีกุล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัท เปิดเผยต่อผู้แทนสื่อมวลชนว่า ตามที่บรรษัทได้รับเงินกู้จาก The Export - Import Bank Of Japan จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้แก่โครงการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงบริษัทในเครือหรือบริษัทที่รวมทุนกับญี่ปุ่น ที่มีความต้องการเงินกู้ระยะปานกลางหรือระยะยาว ซึ่งได้มีพิธีลงนามในสัญญาเงินกู้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะนี้ บรรษัทสามารถนำเงินกู้จำนวนดังกล่าว มาปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยบรรษัทได้อนุมัติเงินกู้ระยะยาว จำนวน 537.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการของ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนในสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรอุปกรณ์ ในโครงการขยายกำลังการผลิต PVC resin โดยมีเป้าหมายเพิ่มจากเดิม 340,000 ตันต่อปี เป็น 460,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และรักษาภาวะผู้นำตลาด โดยอาศัยกระบวนการผลิตที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และมีต้นทุนการผลิตต่ำ นอกจากนี้ยังเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการผลิตวัตถุดิบกึ่งผลิตภัณฑ์ คือ VCM (Vinyl Chloride Monomer) ซึ่งบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตันต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 140,000 ตันต่อปี
บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายพลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) โรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2515 กลุ่มบริษัทมิตซุย แห่งประเทศญี่ปุ่น บริษัท ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จำกัด เข้าร่วมทุนในกิจการของบริษัท ในปี 2530 บริษัทได้ก่อตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ภายใต้โครงการ NPC1 (National Petrochemical Complex 1) เพื่อผลิต VCM (Vinyl Chloride Monomer) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต PVC ทำให้บริษัทสามารถขยายการผลิต PVC ได้มากขึ้น ในปัจจุบันบริษัท มีกำลังการผลิต PVC ชนิดผง และชนิดเม็ด ปีละ 340,000 ตัน และ 57,000 ตัน ตามลำดับ บริษัทได้พัตนาผลิตภัณฑ์ และลดต้นทุนการผลิตจนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยมีการส่งออกสินค้านำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท--จบ--