กรุงเทพ--4 พ.ย.--ปตท.
นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยว่า จากการที่ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-พม่า ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและ ปตท.ได้ทำการปรับสภาพพื้นที่หลังแนวท่อก๊าซฯ โดยการถมดิน และปลูกพืชคลุมดิน ให้กลับสู่สภาพเดิมตลอดแนวไปแล้วประมาณ 97% (เหลือเฉพาะแนวท่อช่วงสันเขา ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการก่อสร้างที่ยังไม่สามารถปลูกพืชคลุมดินได้ทันโดยจะเริ่มปลูกเมื่อหมดฝนแล้ว) แต่ต่อมาเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูฝน จึงได้มีการปรับยุบตัวของดินที่เพิ่งถมในบางจุด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และ ปตท. ได้เตรียมแผนที่จะเข้าถมพื้นที่ดินเพื่อซ่อมแซมจุดที่ดินมีการยุบตัวแล้วตั้งแต่ต้น
สำหรับการเข้าซ่อมพื้นที่หลังจากหมดฤดูฝนนี้ซึ่งจะทำตลอดแนวนั้นปตท.ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยแบ่งทีมงานเป็น 2 ชุด เริ่มจาก KP 20 - KP 100 และ KP 100 - โรงไฟฟ้าราชบุรี (KP 1-20 สำรวจแล้วไม่มีการทรุดตัวอย่างเด่นชัด และจะทำการซ่อมแนวภายหลัง) ซึ่งจนถึงขณะนี้ ชุดแรกกำลังดำเนินการอยู่บริเวณสันเขาตะกั่ว ประมาณ KP 22-26 ส่วนชุดที่สองอยู่ที่ประมาณ KP 120 บริเวณบ้านวังกระแจะ อ.ไทรโยค
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับ การพบฟองอากาศผุดขึ้นมาบริเวณแนวท่อส่งก๊าซฯ ช่วง KP 151 ซึ่งดินมีการยุบตัวค่อนข้างมากนั้น ปตท.ได้เข้าปรับถมพื้นที่ดินบริเวณนี้เป็นการเฉพาะก่อน เพื่อพิสูจน์ที่มาของฟองอากาศ ซึ่งพบว่าลักษณะของดินก่อนหน้านั้นเป็นดินลูกรังปนหินที่แห้งมาก เมื่อมีฝนตกและน้ำท่วมขังมากๆ ก็จะเกิดฟองอากาศและเมื่อถมดินแล้วฟองอากาศก็ค่อยๆ หมดไป นอกจากนี้ ปตท.ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปวัดหาก๊าซฯ ทั้งระดับพื้นดินและขุดเจาะลงไปใต้ดินเพื่อความมั่นใจ ก็ไม่พบว่ามีก๊าซฯ รั่วแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โทร. 537 2159--จบ--