กรุงเทพ--12 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
ไทยและอินโดนีเซียภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก จัดประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเซียแปซิฟิก ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อต้อนรับศตวรรษที่ 21 ที่จะถึงในอีก 3 ปีข้างหน้า
ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง การจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสาธารณสุข ในศตวรรษที่ 21 ว่า ในระหว่างวันที่ 11-15 ธันวาคมนี้ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ มีการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 2 ภูมิภาคเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมในวันที่ 12 ธันวาคม 2540
การประชุมครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย และกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน ในการประชุมจะมีการหารือเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาสาธารณสุขในศตวรรษที่ 21 ระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกใน 2 ภูมิภาคของทวีปเอเซีย ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการประชุม เนื่องจากไทยอยู่ในแวดวงกลุ่มประเทศอินโดจีน (พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย) แต่อยู่คนละภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีปัญหาสาธารณสุขที่คล้ายคลึงกัน จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขในประเทศเพื่อนบ้านของกลุ่มอินโดจีน ทั้งนี้มีพม่าประเทศเดียวเท่านั้นที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ภูมิภาคเดียวกับไทย ทำให้เกิดปัญหาความร่วมมือในแง่ขององค์การอนามัยโลก
ที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านหลายเรื่องอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงนี้ อาจทำให้การช่วยเหลือจากไทยลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ เมื่อการประชุมได้มีการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรจากองค์การอนามัยโลกขึ้นมาแทนได้
ความร่วมมือในการพัฒนางานสาธารณสุข ที่จะมีการหารือในครั้งนี้ เกี่ยวกับการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านกลวิธีการดำเนินงาน รวมทั้งการร่วมกัน และแบ่งกันทำกิจกรรมต่าง ๆ กันในเรื่องเดียวกัน โดยตัวอย่างที่จะยกมาหารือในการประชุมครั้งนี้คือ เรื่องโภชนาการ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สนพระทัย และทรงร่วมฟังการอภิปรายในเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้จะมีการหารือในเรื่อง ความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ความร่วมมือขององค์กรในสังกัดองค์กรสหประชาชาติที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข ความร่วมมือระหว่างองค์กร ที่จัดตั้งขึ้นในระหว่างรัฐบาล เช่น คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของโรคเขตร้อน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขในระดับต่ำกว่าประเทศ เช่น สาธารณสุขในเขตเมือง เขตชนบท โดยตัวอย่างรูปแบบที่ยกมาหารือกันในที่ประชุมคือ เรื่องเมืองน่าอยู่ ว่าจะมีการประสานงานข้ามประเทศกันได้อย่างไร--จบ--