กรุงเทพ--30 มิ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
พบแพทย์และประชาชน สั่งยาไม่สมเหตุสมผล ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 23 ต่อปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขรุกงานวิจัยแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนการบริหารและจัดการระบบยาให้มีประสิทธิภาพขึ้น
นายสุนทร วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า จากการสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับมูลค่าการใช้จ่ายยาของประเทศไทยในปี 2536 ที่ผ่านมาพบว่า มีมูลค่าสูงประมาณ 27,000 ล้านบาท ในราคาขายส่ง และประมาณ 50,000 ล้านบาทในราคาขายปลีก คิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่มีคุณภาพบริการสาธารณสุขที่ใกล้เคียงกันถึง 2-3 เท่า และหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อประชากรและจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 23 ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ
นายสุนทร วิลาวัลย์ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผลนี้พบได้ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปจนถึงแพทย์ผู้สั่งใช้ยา เนื่องจากมีการสั่งใช้ยามากเกินความจำเป็นหรือมีราคาสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางด้านยาสูง ทั้งนี้เพราะการขาดข้อมูลทางด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยารวม อีกทั้งผลประโยชน์จากการสั่งซื้อยาและใช้ยา อันจะนำไปสู่ปัจจัยต่อการสนับสนุนสั่งใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ปัญหาวัฒนธรรมของระบบสาธารณสุข ที่ผู้สั่งจ่ายเป็นทั้งผู้ขายยาด้วย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ และเชื่อมต่อกับปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม หรือปัญหาของนโยบายแห่งชาติด้านยาที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบยาได้ ปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องการความรู้พื้นฐานและความรู้เชิงระบบตลอดจนการบริหารจัดการและการใช้ความรู้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะนำไปสู่ระบบยาที่มีประสิทธิภาพ
นายสุนทร วิลาวัลย์ กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ปัญหาของระบบยาดังกล่าวข้างต้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จึงได้มีโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบยาในประเทศไทยขึ้น โดยประกอบไปด้วย 6 ชุดโครงการ คือ โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบคัดเลือกยา โครงการวิจัยเพื่อระบบการจัดหาและกระจายยา โครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต โครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา และโครงการวิจัยด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนายา
การแก้ปัญหาระบบยาดังกล่าว เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับระบบยาของประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุขเศรษฐกิจและสังคม อันนำไปสู่การแก้ไข ปรับเปลี่ยน การบริหารจัดการรวมถึงการพัฒนาระบบดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง นายสุนทร วิลาวัลย์ กล่าว--จบ--
- ๒๑ ม.ค. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จับมือ โรช ไทยแลนด์ ลงนาม MOU หนุนการพัฒนาระบบสุขภาพให้ชาวไทย
- ๒๑ ม.ค. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมกับ สวรส. เผยผลวิจัยความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อทางโลหิตบริจาค "ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย"
- ม.ค. ๒๕๖๘ เดินหน้าความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ประเทศไทย - อังกฤษ เตรียมพัฒนาแนวทางนำข้อมูลพันธุกรรมใช้ประโยชน์วิจัย วินิจฉัยรักษา ในไทย