กรุงเทพ--26 เม.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะวิธีใช้เครื่องสำอางให้ปลอดภัยต่อตนเองเพราะในชีวิตประจำวันของคนเราต้องใช้เครื่องสำอางอยู่เสมอเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อตกแต่งให้สวยงาม เพื่อความสะอาด และบำรุงรักษาสุขภาพอนามัย เป็นต้น
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องสำอางเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศสาธารณสุขฉบับต่าง ๆ ที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค การใช้เครื่องสำอางขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ใช้เพื่อความสวยงาม เช่น เครื่องสำอาง แต่งใบหน้า ยาย้อมผม น้ำยาดัดผม และอื่น ๆ เพื่อความสะอาดและบำรุงรักษาสุขภาพอนามัยของร่างกาย เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว ครีมระงับกลิ่นตัว น้ำยาบ้วนปาก น้ำหอม ครีมกันแดด เป็นต้น
สำหรับอาการข้างเคียงที่มักเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง ส่วนใหญ่จะเกิดกับผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองของสารนั้นโดยตรง การอักเสบจากการแพ้ทางปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันโดยมีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่แพ้ต่อสารนั้น ๆ บางครั้งการใช้เครื่องสำอางอาจจะมีการระคายเคืองต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ เช่น ที่ตา เนื่องจากแชมพู โฟมอาบน้ำ กระเด็นเข้าตาทำให้น้ำตาไหล การใช้สเปรย์ฉีดผมในที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีทำให้มีการระคายเครืองต่อทางเดินหายใจได้ สาเหตุต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น
1. ระยะเวลาที่สัมผัสกับผิวหนัง เครื่องสำอางที่ทาแล้วทิ้งไว้เป็นเวลานาน ๆ เช่น ครีมบำรุงผิว มักก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่าเครื่องสำอางประเภทที่ใช้แล้วล้างออก เช่น แชมพู
2. บริเวณที่ทา เนื่องจากผิวหนังบางแห่งของร่างกายค่อนข้างไวต่อสิ่งรบกวนมากกว่าผิวหนังบริเวณอื่น เช่น ผิวหนังบริเวณรอบดวงตา
3. ความเป็นกรด-ด่างของเครื่องสำอาง เครื่องสำอางที่มีความเป็นด่างสูง เช่น ครีมทำให้ขนร่วงและครีมยืดผมที่มีค่าเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 12 หรือมากกว่าจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า การเลือกใช้เครื่องสำอางต่าง ๆ นั้นก่อนใช้ควรจะอ่านรายละเอียดให้เข้าใจเกี่ยวกับวิธีใช้ การทดลองก่อนใช้ และอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้เครื่องสำอางนั้น ตลอดจนเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตนเองก็อาจจะทำให้การแพ้เครื่องสำอางเกิดได้น้อยลง ซึ่งอาการแพ้เครื่องสำอางส่วนใหญ่จะเกิดกับผิวหนัง จึงมักจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงหลังใช้ได้ง่าย ฉะนั้นหากเกิดการแพ้เครื่องสำอางควรหยุดใช้ในทันที อาการแพ้จะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้ามีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 5910203-14 ต่อ 9017,9081
โทรสาร 591-1707--จบ--
- ๒๓ พ.ย. กรมอนามัย ย้ำ ท้องถิ่นเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน หลังพบการปนเปื้อนแบคทีเรีย
- ๒๓ พ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาคุณภาพการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพิ่มความแม่นยำในการรักษาเบาหวาน
- ๒๓ พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ผนึกกำลัง 7 องค์กร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567