กรุงเทพ--18 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ย้ำนายจ้างทั้ง 43 จังหวัด นำแรงงานต่างชาติที่อยู่ในครอบครองมาตรวจสุขภาพซ้ำภายในกันยายน 2540 เพื่อเป็นการสกัดกั้นโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติไม่ให้แพร่ระบาดสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะวัณโรค ซิฟิลิสและโรคเท้าช้าง
วันนี้ (18 ก.ค.2540) เวลา 9.00 น. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาเรื่อง "การตรวจสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคติดต่อในแรงงานต่างชาติ" ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลา 2 ปี ในด้านสาธารณสุขนั้น นายจ้างจะต้องนำแรงงานที่หลบหนีเข้าเมือง เช่น พม่า ลาว กัมพูชา มาตรวจสุขภาพเพื่อขอใบอนุญาต (ตั้งแต่ 1 กันยายน - 29 พฤศจิกายน 2539) ขณะนี้ใกล้ระยะเวลาที่นายจ้างต้องนำแรงงานมาตรวจสุขภาพซ้ำในการขอต่อใบอนุญาตในเดือนกันยายน 2540 ที่จะถึงนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีทีมแพทย์พร้อมให้การตรวจสุขภาพในเขตผ่อนปรนทั้ง 43 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
ผลการตรวจสุขภาพที่ผ่านมาใน 43 จังหวัด มีแรงงานต่างชาติมาตรวจสุขภาพทั้งสิ้น 372,242 คน จังหวัดที่ออกใบอนุญาตทำงานมากได้แก่ กรุงเทพฯ ระนอง สมุทรสาคร เชียงใหม่ และภูเก็ต ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า ร้อยละ 81.7 ลาว ร้อยละ 3.7 กัมพูชา ร้อยละ 8.14 ส่วนมากประกอบอาชีพ ก่อสร้างเกษตรกรรม รับใช้ในบ้าน ประมงทะเล เป็นต้น ส่วนมากเป็นโรค สามอันดับแรก คือ วัณโรคปอด ร้อยละ 1.13 ซิฟิลิส ร้อยละ 0.8 และโรคเท้าช้าง ร้อยละ 0.16 โรคดังกล่าวนี้ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตามยังพบว่าปัญหาโรคติดต่อทางชายแดนของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านยังมีปัญหาของการนำโรคติดต่อ เช่น วัณโรค อหิวาตกโรค ไข้มาเลเรีย และโรคเอดส์ อีกทั้งมีการแพร่ระบาดของโรคบางโรค เช่น โรคเท้าช้าง กาฬโรค และไข้กาฬหลังแอ่น จำเป็นต้องดำเนินการสกัดกั้นโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติไม่ให้แพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทย
เพื่อให้มาตรการในการควบคุมป้องกันโรคในแรงงานต่างชาติเป็นไปอย่างครบวงจร และต่อเนื่องจากโรคดังกล่าวในประเทศไทยได้ดำเนินการกำจัดให้หมดไปแล้ว เมื่อมีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โรคดังกล่าวก็จะติดตามกลุ่มคนเหล่านี้มาด้วย ถ้าไม่ได้รับการควบคุมและป้องกันอย่างถูกต้อง อาจเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขในระยะยาวได้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคติดต่อ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาการตรวจสุขภาพและควบคุมโรคติดต่อในแรงงานต่างชาติขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซี่งประกอบด้วย คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในแรงงานต่างชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 12 เขต ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพฯ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้ง 12 เขต และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องใน 43 จังหวัด เพื่อรับทราบนโยบายและแนวทางปฎิบัติในการตรวจสุขภาพ ก่อนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2540 และควบคุมป้องกันโรคในทิศทางเดียวกัน เป็นการสกัดกั้นตัดวงจรจากโรคแรงงานต่างชาติไม่ให้มีปัญหาแพร่ระบาดสู่คนไทยได้--จบ--