กรุงเทพ--16 ม.ค.--สธ.
กระทรวงสาธารณสุขเปิดสอนวิชาการแพทย์ไทยสาขาเวชกรรมและเภสัชกรรม สร้างอาชีพใหม่ให้กับประชาชนยุคเศรษฐกิจฝืดเป็นครั้งแรกพบว่ามีผู้สมัครเข้าเรียนเกินเป้าในจำนวนนี้พบว่าคนรุ่นใหม่ระดับปริญญาสมัครเข้าเรียนเกินครึ่ง
บ่ายวันนี้ นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศนักศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทย รุ่นที่ 1 จำนวน 235 คน ที่ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาการแพทย์มีนโยบายพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากเรานำเอาวิชาการแพทย์แผนไทย สมุนไพร ที่เราสามารถได้ตามท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งคาดว่ามีมากพอสมควร ในขณะนี้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีสมุนไพรคุณภาพและยังมีหมอพื้นบ้านอีกหลายหมื่นคน ซึ่งเป็นกำลังสำหรับในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยที่ผ่านมาพบว่าประชาชนละทิ้งการแพทย์แผนไทย ทำให้เราสูญเสียทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่โดยเปล่าประโยชน์ในปัจจุบันสถาบันการแพทย์แผนไทยได้พัฒนาปรับปรุงส่งเสริมให้เกิดเป็นรูปธรรมเกิดผลต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดหลักสูตรวิชาการแพทย์แผนไทยเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชกรรม เปิดเรียนวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00-19.00 น. ใช้เวลาเรียน 1 ปี และหลักสูตรเวชกรรม เปิดเรียนวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ใช้เวลาเรียน 3 ปี ในสาขาเภสัชกรรมเป็นการนำสมุนไพรที่มีอยู่มาปรุงและผลิตเป็นยา มีผู้สนใจเข้าเรียน 109 คน สาขาเวชกรรมเป็นการศึกษาการบำบัดรักษา ผู้สนใจเข้าเรียน 126 คน ผู้เรียนหลังจากจบการศึกษามีสิทธิสอบขอรับใบประกอบโรคศิลปะจากกองประกอบโรคศิลปะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ จากการเปิดรับสมัครรอบแรกมีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนมากที่สุดเป็นระดับวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-ปริญญาเอก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-39 ปี ระดับปริญญาตรี 129 คน ปริญญาโท 9 คน ปริญญาเอก 4 คน รวมระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก 142 คน มีจำนวนมากถึง 64% ของผู้เข้าเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ ด้านการแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานมรดกภูมิปัญญาของไทยต่อไป
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ายาแผนปัจจุบันหลายตัวที่ผลิตในประเทศไทยใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศต้องเสียเงินซื้อยาจำนวนมหาศาล ซึ่งยาแผนปัจจุบันบางกลุ่มสามารถใช้สมุนไพรทดแทนได้ มีจำนวนกว่า 15 ชนิด ที่ใช้ในโรงพยาบาล อาทิ ยากล่อมประสาท ยาขับปัสสาวะ ยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ยาช่วยเจริญอาหาร ยาระบาย ยาถ่ายพยาธิ ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาลดกรด ขับลม ยารักษาโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด ลดการอักเสบ คัน ยาอม แก้เจ็บคอ ในปี 2537 มีมูลค่าการใช้ยาในโรงพยาบาลประมาณ 1,025.13 ล้านบาท ในกลุ่มร้านขายยา 2,162.63 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้ง 2 แห่งเป็นเงิน 3,187.58 ล้านบาท ซึ่งในปี 2541 คาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง การแก้ไขที่ถูกต้องเราจะคิดค้นหรือพัฒนาการผลิตยาจากสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศมาใช้แทนยาดังกล่าวโดยนำเอาสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ข่า ขี้เหล็ก ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน กล้วย ว่านหางจรเข้ ไพล คำฝอย บอระเพ็ด มะระขี้นก มะแว้ง คูน กานพลู ทับทิม กระชาย เล็บมือนาง เป็นตัวอย่างสมุนไพรที่สามารถนำมาผลิตทำแทนยา ก็จะได้ยาคุณภาพที่ดีเช่นกัน แต่รายจ่ายของประชาชนจะจ่ายน้อยลง ซึ่งเป็นการประหยัดลดค่าใช้จ่ายภายในประเทศได้อย่างมหาศาล
นายธีระวัฒน์ กล่าวต่อไป กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนการแพทย์แผนไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนไทยนำภูมิปัญญาไทยด้านการดูแลรักษาสุขภาพมาพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด--จบ--