สธ.ระดมหมอเด็กช่วยกวาดล้างโปลิโอ

จันทร์ ๒๐ ตุลาคม ๑๙๙๗ ๑๖:๐๙
กรุงเทพ--20 ต.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข พบที่ผ่านมาผลการดำเนินงานเฝ้าระวังผู้ป่วยโปลิโอยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ช่วง 3 ปีหลังพบเพียงปีละ 1-2 ราย คาดยังมีผู้ป่วยหลงเหลือ ระดมขอความร่วมมือจากกุมารแพทย์ทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการใกล้เคียงด้วย
นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เมื่อเช้าวันนี้ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคติดต่อได้จัดสัมมนากุมารแพทย์ทั่วประเทศเกือบ 200 คน เพื่อทบทวนนโยบายและแนวทางการกวาดล้างโรคโปลิโอในประเทศไทย ทบทวนบทบาทของกุมารแพทย์ในการรายงานโรคตามระบบการเฝ้าระวังโรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างฉับพลัน (Acute Flaccid Paralysis หรือ AFP) และการเฝ้าระวังอาการภายหลังการได้รับวัคซีน ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นกุมารแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศจากของทบวงมหาวิทยาลัย กุมารแพทย์จากกทม. โดยจะใช้เวลา 2 วันตั้งแต่วันที่ 20-21 ตุลาคม 2540
นายสรอรรถ กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายที่จะกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากประเทศไทยในแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) และต่อเนื่องมาจนถึงแผนฯ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ตามกำหนดขององค์การอนามัยโลกให้นานาประเทศสมาชิกกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปจากโลกภายในปี 2543 นี้ โดยใช้ 4 มาตรการในการดำเนินงานไปพร้อม ๆ กันคือ การรักษาระดับความครอบคลุมให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้รับวัคซีนโปลิโอครบชุดร้อยละ 90 ในทุกพื้นที่ มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน (AFP) มีการควบคุมโรคในชุมชนอย่างรวดเร็ว เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ดำเนินการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กพร้อมกันทั่วประเทศปีละ 2 ครั้ง จากการดำเนินงานตามกลยุทธดังกล่าวโดยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอลดลงตามลำดับ
นายสรอรรถ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่ารายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอลดลงก็จริง แต่การดำเนินการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยที่เป็นมีอาการอัมพาตชนิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน (AFP) ยังมีความครอบคลุมไม่ครบถ้วน ผลการดำเนินงานยังต่ำกว่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนด ที่ผ่านมาการเฝ้าระวังผู้ป่วย AFP ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน สามารถค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันได้ประมาณปีละ 88-154 ราย ในจำนวนนี้ตรวจพบแยกเชื้อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอได้ปีละ 1-7 ราย แต่มาช่วง 3 ปีหลังพบผู้ป่วยเพียงปีละ 1-2 ราย ซึ่งตามความเป็นจริงคาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ นั่นคืออาจมีผู้ป่วยหลงเหลืออยู่อีก ดังนั้นกุมารแพทย์เป็นบุคลากรที่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการป้องกันโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะการกวาดล้างโรคโปลิโอ จึงต้องสัมมนากุมารแพทย์ในครั้งนี้ขึ้น โดยผู้ป่วยเด็กทุกรายที่สงสัยหรือมีอาการใกล้เคียงกับโรคโปลิโอจะได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อหาเชื้อไวรัสโปลิโอทุกราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ มาให้การรักษาได้มากยิ่งขึ้น และเป็นการตัดวงจรการระบาดของโรคติดต่อ--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม