กรุงเทพ--21 ส.ค.--กทม.
ที่บริเวณปากทางถนนจอมทองบูรณะ ด้านถนนประชาอุทิศ เขตราษฏร์บูรณะ วันที่ 20 ส.ค. 40 เวลา 8.30 น. รศ.ญาณเดช ทองสิมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการก่อสร้างถนนและสะพานใต้ทางด่วนจากถนนประชาอุทิศ ถึงถนนพระรามที่ 2 (ถนนจอมทองบูรณะ) โดยมี พลตำรวจตรี หม่อมหลวง ทวีลาภ ทวีวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล น.ส.รัตนา อนันต์นาคินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายศราวุฒิ ปฤชาบุตร ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิษณุ พะลายานนท์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายมานะ นพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายไชยวัฒน์ ฉลองพันธรัตน์ ผู้อำนวยการเขตราษฏร์บูรณะ และนายอิสระ รุกขพันธุ์ สมาชิกสภากทม.เขตราษฏร์บูรณะ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ โครงการก่อสร้างถนนสายหลัก ถนนสายรอง โครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางแยก โครงการก่อสร้างอุโมงค์ข้ามทางแยก และสร้างถนนเชื่อมถนนสายหลัก ทะลุตรอก ซอย เพื่อเป็นเส้นทางลัด ซึ่งกำลังดำเนินการในเกือบทุกเขต รวมทั้งโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการ
สำหรับโครงการก่อสร้างถนนจอมทองบูรณะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร โดยกรุงเทพมหานครได้ขออนุญาตจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอใช้พื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนช่วงกลางระหว่างเสาทางด่วนเพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนประชาอุทิศกับถนนพระรามที่ 2 ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาการจราจรในถนนสุขสวัสดิ์ และบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางที่สามารถลำเลียงผลิตผลทางการเกษตร จากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว สะดวก ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นเส้นทางลัดออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ได้อีกด้วย โดยลักษณะของโครงการ เป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลด์ 2 ช่องทาง กว้าง 7.00 เมตร มีไหล่ทางแอสฟัลด์กว้างข้างละ 0.90 เมตร กั้นด้วยการ์เรลล์ตลอดแนว ถนนอยู่ช่วงกลางระหว่างเสาทางด่วน ระยะทางประมาณ 3.5 กม.พร้อมสะพาน คสล.ข้ามคลองต่าง ๆ จำนวน 6 สะพาน ท่อระบายน้ำและไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์ควบคุมการใช้เส้นทาง ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร จำนวน 79,553,139.70 บาท เริ่มก่อสร้างเมื่อ 7 พฤษภาคม 2539 ขณะนี้การก่อสร้างได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้ประชาชนใช้แล้ว--จบ--