กรุงเทพ--29 มิ.ย.--สวช.
ด้วยมนต์เสน่ห์ความงามของธรรมชาติ ขุนเขาที่สูงตระหง่านเสียดฟ้า เย้ายวนสายตาผู้มาเยือนให้หลงใหลในทิวทัศน์ ซึ่งอุดมไปด้วยผืนป่าที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมอันหลากหลาย แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด "แม่ฮ่องสอน" วันนี้ก็ยังคงสภาพเช่นเดิมนี้อยู่
ด้วยเหตุนี้นายประสิทธิ์ จันทร์ดา รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงรูปแบบและเหตุผลที่เลือก จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำ เส้นทางวัฒนธรรมการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ดำเนินการขึ้น
"จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสวนที่เป็นป่าทึบและเทือกเขา คิดเป็น 90.5% ส่วนที่เหลืออีก 9.5% เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเต็มไปด้วยป่าและภูเขาที่ยังคงสมบูรณ์ อีกทั้งประกอบไปด้วยชนหลากเผ่าพันธุ์ ทำให้แม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมที่หลากหลายอันน่าสนใจ ถือเป็นจุดขายโดยใช้ธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสิ่งดึงดูดใจ"
"ในฐานะที่ สวช. เป็นหน่วยงานของภาครัฐ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ภาระกิจดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทางคณะทำงานจึงดำเนินการโครงการดังกล่าวขึ้น" นายประสิทธิ์กล่าวต่อไปอีกว่า
"สำหรับเส้นทางวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวนี้ ได้กำหนดไว้ 3 เส้นทาง โดยเริ่มทางที่บ้านหนองเขียว อ.เมือง สู่ร่มเกล้า (ตำหนัก), ศูนย์ห้วยมะเขือส้ม, บ้านรักไทยและบ้านรวมไทย เส้นทางสุดท้าย ปางมะผ้า, ถ้ำลอด, ถ้ำปลา ทั้งนี้นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินกับความงามของธรรมชาติพร้อมกันได้ศึกษาขนบธรรมเนียม วิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางในระหว่างการเดินทางได้"
"อนึ่งโครงการนี้ ได้ยึดพระราชดำรัสคุณธรรม 7 ประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการดำเนินงานซึ่งนอกจากเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ที่เส้นทางนี้ได้ผ่านในแต่ละจุด ทั้งนี้การท่องเที่ยวในลักษณะนี้เป็นการกระจายรายได้สู่หมู่บ้าน โดยชาวเขาจะมีรายได้จากการขายสินค้าพวกของที่ระลึก น้ำดื่ม ฯลฯ ซึ่งคาดว่าเส้นทางวัฒนธรรมนี้จะสามารถเปิดใช้ได้ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้" นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด--จบ--