กรุงเทพ--26 ก.พ.--กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เวลา 9.15 น. นายประเทศ สูตะบุตร อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเรื่อง "THE ENERGY CONSERVATION SUB-SECTOR NETWORK OF THE ASEAN ENERGY COOPERATION" ซึ่งจัดโดยสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงาน ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2540 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องมาจาก เมื่อคราวประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสด้านพลังงาน อาเซียนสมัยพิเศษ (SPECIAL SOMEC) ที่กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2537 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทย โดยสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน (สกอ.) กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นผู้ ประสานงานความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนั้น มี 6 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ โดยมีประเทศเวียดนาม เป็น สมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น โดยการจัดประชุมในประเทศครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวน ความก้าวหน้าของการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนการดำเนินงาน ปี 2538-2539 รวมทั้ง กำหนดแผนการดำเนินงาน และกิจกรรมที่จะดำเนินการ ในปี 2540-2541 ต่อไป
สำหรับกิจกรรมที่ได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน ปี 2538-2539 นั้นประกอบด้วย
1. โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเตรียมการ การนำนโยบาย และมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติโดยมีประเทศอินโดนี- เซีย เป็นผู้ประสานงานโครงการกับประเทศสมาชิกต่าง ๆ โดยในส่วนของประเทศ ไทยมีหน่วยงานรับผิดชอบโครงการนี้ 2 หน่วยงาน คือสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาวิธีการทดสอบการหาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ การให้การรับรองห้องทดสอบ อีกหน่วยงานหนึ่งคือ สำนักงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า รับผิดชอบดำเนินการในโครงการติดฉลากระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานบนตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ มีการรณรงค์เพื่อส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการดำเนินโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นอย่างดี
2. โครงการพัฒนาการตระหนักถึงความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงาน ของประชาชน โดยมีประเทศที่รับผิดชอบดังนี้
2.1 สาขาอุตสาหกรรมและธุรกิจ มีประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบใน การจัดทำคู่มือ การฝึกอบรมผู้จัดการด้านพลังงาน
2.2 สาขาบ้านอยู่อาศัย มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานใน การรวบรวมจัดทำข้อมูล และวัสดุเพื่อใช้ในการศึกษาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ในบ้านอยู่อาศัย
นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการจัดทำคู่มือการเรียนการสอนการอนุรักษ์ พลังงานในโรงเรียน โดยในเบื้องต้น อาจใช้ข้อมูลของประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ โดยธนาคารโลก (WORLD BANK) จะให้เงินช่วยเหลือในการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถนำไปใช้ใน โรงเรียนของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้ อันเป็นการปลูกฝังจิดสำนึกให้เด็ก นักเรียนได้เห็นความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการ อนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ ต่อไป--จบ--