กรุงเทพ--17 มิ.ย.--สำนักงานประกันสุขภาพ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายพัฒนาระบบบริหารประกันสุขภาพและบทบาทผู้บริหารในการติดตามประเมินผลด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันด้านสุขภาพ
นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมชี้แจงนโยบายด้านการประกันสุขภาพและสาธารณสุข เมื่อเช้าวันที่ 12 มิถุนายน 2541 ว่า การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนงานสวัสดิการสาธารณสุขและประกันสุขภาพ ถือเป็นภาวะกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบในแผนงาน 4 งานหลัก ได้แก่ งานบริหารสวัสดิการสาธารณสุข, งานบริหารโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล, งานประสานบริการสาธารณสุขภายใต้พรบ. ประกันสังคมและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และงานเงินทุนหมุนเวียนบัตรประกันสุขภาพ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการพัฒนาระบบบริหารโครงการสวัสดิการประชาชน ด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือ ว่าเพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกลาง (กสปร.กลาง) ให้มีอำนาจในการกำหนดแนวทางและวิธีการปฎิบัติงานหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเงินให้แก่จังหวัดอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบบริหารโครงการประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ต้องปรับปรุงระบบตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 เพื่อเน้นการจำหน่ายบัตรดังกล่าวแก่กลุ่มเป้าหมาย คือเป็นผู้ที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลใด ๆ ผู้มีรายได้ไม่แน่นอน กลุ่มเกษตรกร และแรงงานที่ไม่มีสวัสดิการประกันสังคมคุ้มครอง รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารกองทุนประกันสุขภาพ ให้มีมาตรการพัฒนาเพื่อการมีสุขภาพดีด้วยต้นทุนต่ำโดยเพิ่มการประหยัดรายจ่ายในทุกระดับหน่วยงานสาธารณสุข
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินงานประกันสุขภาพ ว่าการมีหลักประกันด้านสุขภาพอนามัยเมื่อยามเจ็บป่วยโดยฐานะทางเศรษฐกิจไม่เป็นอุปสรรคขัดขวาง นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้หลักการดังกล่าวเกิดได้จริง โดยขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบถึง ร้อยละ 70 คิดเป็นประชากรกว่า 42.36 ล้านคน อย่างไรก็ตามยังมีสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ความซ้ำซ้อนของระบบประกันสุขภาพทำให้เกิดความด้อยประสิทธิภาพของระบบ และไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการของประชาชนภายใต้ระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ การที่จะพัฒนาระบบบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต้องอาศัยระบบข้อมูลข่าวสารประกันสุขภาพที่ดี
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการบัตรประกันสุขภาพ และโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ว่าโครงการประกันสุขภาพ มีแหล่งงบประมาณจากภาครัฐและเอกชนร่วมกันจ่ายฝ่ายละครึ่งหนึ่ง ในปีงบประมาณ 2541 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ 1,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชากรกว่า 8 ล้านคน ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2540-มีนาคม 2541) จำหน่ายบัตรประกันสุขภาพไปแล้ว 1,248,983 บัตร และโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) มีแหล่งงบประมาณมาจากภาครัฐทั้งหมด ซึ่งในปีงบประมาณ 2541 ได้รับงบประมาณกว่า 7,029 ล้านบาท ครอบคลุมประชากร 25.75 ล้านคน--จบ--
- ๒๓ พ.ย. กรมอนามัย ย้ำ ท้องถิ่นเร่งปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน หลังพบการปนเปื้อนแบคทีเรีย
- ๒๓ พ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาคุณภาพการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพิ่มความแม่นยำในการรักษาเบาหวาน
- ๒๓ พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ผนึกกำลัง 7 องค์กร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567