กรุงเทพ--13 มี.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบการต่อสู้กับโรคกลัวน้ำหรือโรคหมาหว้อโดยสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศตั้งคลังวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมให้บริการประชาชนที่ถูกสัตว์กัดทันทีเผยในปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวแล้ว 1 ราย
นายรักเกียรติ สุขธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษ์เกี่ยวกับนโยบายในการกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคหมาหว้อ ภายหลังเป็นประธานปล่อยคาราวานรถ รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัข จำนวน 40 คันที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อเช้าวันนี้ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 - 31 มีนาคม 2541 ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำจัดโรคดังกล่าวให้หมดไปจากประเทศไทยภายในพ.ศ. 2543 โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาซึ่งได้ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลง จาก 185 รายในพ.ศ. 2533 เหลือ 56ราย ในพ.ศ. 2540 สำหรับในปี 2541 นี้ มีรายงานเสียชีวิตแล้ว 1 รายที่จังหวัดสุโขทัย
นายรักเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5 - 9 ปี พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงซึ่งมักจะถูกสุนัขกัดในช่วงปิดเทอมใหญ่คือประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน ที่น่าห่วงมากอีก 2กลุ่ม คือเด็กวัยอนุบาล เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังซุกซนช่วยเหลือตนเองไม่ได้และกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะไม่ปราดเปรียวว่องไว เมื่อสัตว์วิ่งเข้ามาหาจึงหนีไม่พ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาดังกล่าวขั้นแรกก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้สุนัขเป็นบ้าจึงได้สั่งการให้สาธารณสุขทุกจังหวัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ทางด้านนายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าของประชาชนภายหลังสัมผัสโรคหรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการให้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยตนได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดจัดตั้งคลังวัคซีนหรือศูนย์วัคซีนและอิมมูโนโกลบุลินขึ้น ผู้ที่ถูกสัตว์กัดสามารถรับบริการได้ทันทีหรือภายใน 24ชั่วโมงหลังถูกสัตว์กัด ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้เป็นวัคซีนที่ฉีดเพียง 5 เข็มเท่านั้นและฉีดครบ 5 เข็มภายในเวลา 1 เดือน นับว่าสะดวกกว่าอดีตมากมั่นใจว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานครั้งนี้จะสามารถป้องกันและลดการเสียชีวิตของประชาชนจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างได้ผล--จบ--