กรุงเทพ--15 ก.ย.--ธนาคารกรุงไทย
หน่วยงานระดับประเทศในภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดตั้ง บ."เทรดสยาม" เพื่อให้บริการด้าน EDI แก่กรมศุลกากรและหน่วยงานของรัฐในภาคการค้าระหว่างประเทศ ให้สามารถติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานและธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมั่นจะช่วยเพิ่มการส่งออกของประเทศ
นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในฐานะกรรมการ บ.เทรดสยาม เปิดเผยว่า จากการที่ภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ การเร่งการส่งออกเพื่อนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ นับเป็นมาตราการหนึ่งที่สำคัญที่จะให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ในการนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐและเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง บ.เทรดสยามขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ในอัตราส่วนภาครัฐ 49% ภาคเอกชน 51% เพื่อให้บริการ EDI (ELECTRONIC DATA INTERCHANGE) หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางอิเล็คทรอนิคส์ กับกรมศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่อยู่ในวงการค้าระหว่างประเทศ
"ขณะนี้การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การใช้ EDI ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ อันเป็นการติดต่อสื่อสารกันโดยใช้ภาษากลาง ในมาตรฐาน UN/EDIFACT สามารถเข้าใจกันได้ทั่วโลก มีความรวดเร็ว ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการป้อนข้อมูล และลดความผิดพลาดทางด้านข้อมูล เพราะสามารถแลกเปลี่ยนจากต้นทางได้เลยการที่ไทยพัฒนาไปใช้ EDI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารด้านการค้ากับทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยรวมดีขึ้นด้วย" นายสหัสกล่าว
บริษัทเทรดสยามที่ตั้งขึ้นนี้ มีการบริหารงานในแบบเอกชนที่มีความคล่องตัว ขณะเดียวกันก็มีระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการค้าของผู้นำเข้าและส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างคัดเลือกผู้จัดการ และคาดว่าจะเริ่มให้บริการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในปลายปีนี้
สำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ บมจ.การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่แห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลด โทร. 653-2333 ต่อ 770-2 --จบ--