กรุงเทพ--3 ธ.ค.--การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีต่อไป แม้ว่าจะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจชลอตัว มั่นใจไม่มีปัญหาเชื้อเพลิง และจะมีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด คาดว่าจะเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2541 แต่การก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการนั้นต้องเลื่อนออกไปอีก 3 ปี
นายวีระวัฒน์ ชลายน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานยกเสาเอกโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี จ.ราชบุรี เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (1 ธันวาคม 2540) ว่า กฟผ.ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีต่อไป แม้ว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจชลอตัว มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาด้านเชื้อเพลิง เพราะโรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ซึ่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกจะจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2541 อย่างแน่นอน แต่การสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีให้เสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการนั้นต้องเลื่อนออกไปอีก 3 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชลอตัวลง ซึ่งแผนการก่อสร้างเดิมจะแล้วเสร็จภายในปี 2545 ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2548 ส่วนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมนั้น กฟผ.ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุดด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 15,058 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, เครื่องกรองฝุ่น, โรงกรองน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียควบคู่ไปด้วย
โรงไฟฟ้าราชบุรีเป็นโครงการเร่งด่วนของกฟผ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2539 สร้างขึ้นในเขต อ.เมือง และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มีขนาดกำลังผลิต 4,600 เมกะวัตต์ เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าการก่อสร้าง 120,710 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อน จำนวน 4 เครื่อง ๆ ละ 700 เมกะวัตต์ มีกำลังผลิตรวม 2,800 เมกะวัตต์ ใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิงหลักและใช้ก๊าซธรรมชาติจากพม่าเป็นเชื้อเพลิงสำรอง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมนั้น มีจำนวน 3 ชุด มีกำลังผลิตชุดละ 600 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง--จบ--