ไทยออยล์ประกาศศักยภาพโรงกลั่นแห่งแรกสู่ธุรกิจไฟฟ้าและปิโตรเคมี

ศุกร์ ๒๘ พฤศจิกายน ๑๙๙๗ ๑๕:๐๙
กรุงเทพ--28 พ.ย.--ไทยออยล์
เช้าวันนี้ (28 พฤศจิกายน) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม บริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ(ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตสารพาราไซลีน บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด และพิธีเปิดโรงกลั่น น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานศรีราชา บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยออยล์และตั้งอยู่ใกล้โรงกลั่นไทยออยล์ พิธีดังกล่าวจัดขึ้น ณ บริเวณโรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายเกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด และบริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยฝ่ายจัดการของทั้ง 3 บริษัทเฝ้ารับเสด็จ จากนั้นได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "สู่ศักยภาพผู้ผลิตพลังงานและปิโตรเคมีแห่งเอเชียแปซิฟิค" ซึ่งจัดโดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการขยายฐานธุรกิจจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานไปสู่ภาคการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมครบวงจร รวมทั้งการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
ปัจจุบันไทยออยล์ได้ขยายการลงทุนในภาคการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมครบวงจร จากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมไปสู่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ โรงงานผลิตผงคาร์บอนแบล็ค ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ นอกจากนี้ยังได้ขยายการลงทุนเข้าสู่อุตสากรรมปิโตรเคมีขั้นต้น คือ โรงงานผลิตสารพาราไซลีน และที่สำคัญ คือ การก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่รายแรก ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอิสระรายใหญ่ (Independent Power Producer : IPP) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งธุรกิจไฟฟ้านี้นอกจากจะช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย
บริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยออยล์ เพาว์เวอร์ จำกัด กับ บริษัท ยูโนแคล เอเชีย-แปซิฟิค เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท เวสติ้งเฮาส์ อิเล็คทริค เอส.เอ.ในสัดส่วนร้อยละ 56,24 และ 20 ตามลำดับ ประกอบธุรกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (ไอพีพี) ครั้งที่ 1 ระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุน 11,800 ล้านบาท ซึ่งใช้ในการก่อสร้างโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ และสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลท์ 4 วงจร เพื่อเชื่อมโยงระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าของบริษัทฯ เข้ากับระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอ่าวไผ่ โรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จะเป็นโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine Generator) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำ (Steam Turbine Generator) ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องตลอดเวลา โดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบวิศวกรรมและเริ่มงานก่อสร้าง นับว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ เป็นโรงไฟฟ้าของเอกชนรายแรกที่ได้รับคัดเลือกและลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. ตลอดจนพร้อมที่จะเดินเครื่องและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่กฟผ. เป็นแห่งแรกราวกลางปี 2542
บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัท เอ็มโอซีโฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท มิตซูบิชิออยล์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วนร้อยละ 62 และ 38 ตามลำดับ ประกอบธุรกิจการผลิตสารพาราไซลีน (ปิโตรเคมีอะโรเมติกส์ขั้นต้น) เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางในการผลิต PTA (Purified Terephthalic Acid) ซึ่งจะนำไปใช้ในการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ (Polyester) พลาสติกสำหรับผลิตขวดน้ำดื่ม และฟิล์ม (Polyethylene Terephthalate : PET) ซึ่งเป็นปิโตรเคมีขั้นปลายต่อไป โรงงานผลิตสารพาราโซลีนมีมูลค่าการลงทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบวิศวกรรมและเริ่มงานก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2542 โรงงานผลิตสารพาราไซลีนที่จะก่อสร้างขึ้นนี้จะมีศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันที่สูงกว่าโรงอื่น ๆ เพราะใช้ต้นทุนก่อสร้างต่ำ เนื่องจาก ไม่ต้องสร้างหน่วยผลิต CCR และหน่วยผลิตมิกซ์ไซลีน และยังใช้วัตถุดิบ คือ มิกซ์ไซลีนที่ผลิตและส่งทางท่อโดยตรงจากกระบวนการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นไทยออยล์ จึงช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ ทั้งยังส่งเสริมให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมบนเวทีการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยออยล์ จำกัด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บริษัท เอ็มโอซี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัท มิตซูบิชิออยล์ จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น บริษัท บีพี ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท น้ำมันปิโตรเลียมไทย จำกัด และบริษัทสยามภัณฑ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 38, 30, 22, 5, 3, และ 2 ตามลำดับ เพื่อประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานโรงแรกของประเทศ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท กำลังการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 300 ล้านลิตรต่อปี และยางมะตอย 350,000 ตันต่อปี ซึ่งสามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ประมาณปีละ 4,400 ล้านบาท เริ่มเดินเครื่องพร้อมจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๓๑ ไทยเครดิตรายงานผลประกอบการปี 2567 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,624.0 ล้านบาท
๐๙:๔๑ หมอหมีขอเม้าท์! เผยสูตรลับสุขภาพดีด้วยตัวเอง ตามแบบฉบับ เม้าท์กับหมอหมี
๐๙:๑๖ แอ็กซอลตา ประกาศเทรนด์สีรถยนต์ปี 2025 ได้แก่ สีเอเวอร์กรีน สปรินท์ (Evergreen Sprint)
๐๙:๓๔ เกาะติดเลือกตั้ง อบจ. 68 กับไทยพีบีเอส เสียงท้องถิ่นชี้อนาคตประเทศไทย
๐๙:๑๙ น่ารักจนใจเจ็บ! Harupiii อินฟลูญี่ปุ่นรักไทย เปลี่ยนวลีดัง ทำไมทำไม สู่เพลงใหม่ยอดวิวถล่มทลาย
๐๙:๓๔ การแข่งขัน MUICT ENVI Mahidol Hackathon 2025 ภายใต้หัวข้อ : Digital Innovation for Carbon Neutrality Society
๐๙:๒๔ จากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่สินค้าส่งออก เครื่องเคลือบจากอำเภออี้หนาน มณฑลซานตง โด่งดังไกลถึงต่างแดน
๐๙:๓๘ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2567 จำนวน 2,852.1 ล้านบาท เติบโต 77.7%
๐๙:๕๔ RBF สานพลังปลูกป่าชายเลน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู ร่วมแก้วิกฤตโลกร้อน ในโครงการ RBF GREEN VOLUNTEER ปีที่
๐๙:๐๖ ต้อนรับความมั่งคั่งและโชคลาภ พร้อมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ